category รวม 48 บทเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

Writer : Nokkaew

: 18 ตุลาคม 2559

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง จากฝีพระหัตถ์ของพระองค์

โดยทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ “Echo”, “Still on My Mind”, “Old-Fashioned Melody”, “No Moon” และ “Dream Island” นอกจากนี้ มีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ “ความฝันอันสูงสุด”“เราสู้” และ “รัก”

1. แสงเทียน (Candlelight Blues)

เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน หรือ Candlelight Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย

 

2. ยามเย็น (Love at Sundown)

เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น หรือ Love at Sundown เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ 

 

3. สายฝน (Falling Rain)

เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน หรือ Falling Rain เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา 

 

4. ใกล้รุ่ง (Near Dawn)

เพลงพระราชนิพนธ์ ใกล้รุ่ง หรือ Near Dawn เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์

 

5. ชะตาชีวิต (H.M. Blues)

เพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต หรือ H.M. Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

 

6. ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues)

เพลงพระราชนิพนธ์ ดวงใจกับความรัก หรือ Never Mind The Hungry Men’s Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากได้เสวยพระกระยาหาร และนักดนตรีได้รับประทานอาหารแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระราชทานชื่อว่า Never Mind the H.M Blues เป็นการตอบปริศนาคำทายที่ว่า H.M. แปลว่าอะไร ของเพลง H.M. Blues

 

7. มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)

เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ชื่อ “ราชวัลลภ” และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม

จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้องในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราชวัลลภ” (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕

 

8. อาทิตย์อับแสง (Blue Day)

เพลงพระราชนิพนธ์ อาทิตย์อับแสง หรือ Blue Day เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

 

9. เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)

เพลงพระราชนิพนธ์ เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

 

10. คำหวาน (Sweet Words)

คำหวาน หรือ Sweet Words เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๐ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

11. มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)

มหาจุฬาลงกรณ์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง โดยมีท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ สุภร ผลชีวิน เป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยืนตรงเมื่อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ดังขึ้น

 

12. แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)

เพลงพระราชนิพนธ์ แก้วตาขวัญใจ หรือ Lovelight in My Heart เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๒ ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเพลงในจังหวะวอลท์ซ

 

13. พรปีใหม่

เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง “พรปีใหม่”

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕

 

14. รักคืนเรือน (Love Over Again)

เพลงพระราชนิพนธ์ รักคืนเรือน หรือ Love Over Again เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕

 

15. ยามค่ำ (Twilight)

เพลงพระราชนิพนธ์ ยามค่ำ หรือ Twilight เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๕ ทรงพระราชนิพธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วได้พระราชทานให้นำออกบรรเลง ในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นเพลงในจังหวะฟอกซ์ทร็อต

 

16. ยิ้มสู้ (Smiles)

เพลงพระราชนิพนธ์ ยิ้มสู้ หรือ Smiles เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ ๑๖ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๕ ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์ในปีต่อมา

 

17. มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)

เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชธงไชยเฉลิมพล หรือ The Colours March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๗ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ

 

18. เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)

เพลงพระราชนิพนธ์ เมื่อโสมส่อง หรือ I Never Dream เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๘ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ได้พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปี ของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย

 

19. ลมหนาว (Love in Spring)

ลมหนาว, เพลงซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประพันธ์ทำนอง และสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้อง

 

20. ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)

เพลงพระราชนิพนธ์ ศุกร์สัญลักษณ์ หรือ Friday Night Rag เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๐ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อเป็นเพลงประจำวงดนตรี “ลายคราม” โดยบรรเลงทุกครั้งที่ทรงดนตรีกับวงลายคราม พระราชทานออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. ประพันธ์คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

21. Oh I say

Oh I Say เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 21 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย

 

22. Can’t You Ever See

เพลงพระราชนิพนธ์ Can’t You Ever See เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๒๒ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เพลงพระราชนิพนธ์ นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย

 

23. Lay Kram Goes Dixie

เพลงพระราชนิพนธ์ Lay Kram Goes Dixie เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 23 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2498 พระราชทานให้แก่ วงลายคราม ซึ่งเป็นวงดนตรีแจ๊สส่วนพระองค์ ที่ทรงตั้งขึ้นหลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทย บรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.

 

24. ค่ำแล้ว (Lullaby)

ค่ำแล้ว หรือ Lullaby เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๔ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

 

25. สายลม (I Think of You)

เพลงพระราชนิพนธ์ สายลม หรือ I Think of You เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๕ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

 

26. ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย

เพลงพระราชนิพนธ์ ไกลกังวล หรือ When หรือ เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๖ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยคือ นายวิชัย โกกิลกนิษฐ

 

27. แสงเดือน (Magic Beams)

เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเดือน หรือ Magic Beams เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

เพลงพระราชนิพนธ์นี้มีลีลาชดช้อย อ่อนหวาน สง่างาม เหมาะสำหรับประกอบการเต้นบัลเล่ต์ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ต่อมาได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑

 

28. ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์

ฝัน หรือ เพลินภูพิงค์ หรือ Somewhere Somehow เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๘ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และนายศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้อง “ฝัน”

ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมี่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ และพระราชทานให้บรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒

 

29. มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)

เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชนาวิกโยธิน หรือ Royal Marines March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ พล.ร.ต.สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำกรมนาวิกโยธิน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๒

และได้โปรดเกล้าฯให้นำออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๒ โดยวงดนตรีประจำกองเรือที่ ๗ ของสหรัฐอเมริกา ในโอกาสที่นาวิกโยธินอเมริกัน ประจำกองเรือที่ ๗ ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนประเทศไทย

 

30. ภิรมย์รัก (A Love Story)

เพลงพระราชนิพนธ์ ภิรมย์รัก หรือ A Love Story เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ “A Love Story” และพลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันทน์ ประพันธ์คำร้อง ภาษาไทย “ภิรมย์รัก”

 

31. Nature Waltz

Nature Waltz หนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite หรือ กินรี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ชุดที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 เพื่อประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ ชุด มโนห์รา ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด โปรดเกล้าฯ ให้วงดุริยางค์ราชนาวีบรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร

 

32. The Hunter

The Hunter หนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite หรือ กินรี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ชุดที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 เพื่อประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ ชุด มโนห์รา ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด โปรดเกล้าฯ ให้วงดุริยางค์ราชนาวีบรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร

 

33. Kinari Waltz

Kinari Waltz หนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ชุด Kinari Suite หรือ กินรี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ชุดที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 เพื่อประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ ชุด มโนห์รา ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด โปรดเกล้าฯ ให้วงดุริยางค์ราชนาวีบรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร

 

34. แผ่นดินของเรา (Alexandra)

แผ่นดินของเรา Alexandra เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๔ ทรงพระราชนิพนธ์โอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว ๑๐ นาที พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลงต้อนรับเจ้าหญิงในการมาเยือนครั้งนี้ ทรงประพันธ์ทำนองเพลงภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ทรงส่งโน้ตนั้นให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้องให้กับทำนองเพลงนั้นทันที

 

35. พระมหามงคล

เพลงพระราชนิพนธ์ พระมหามงคล เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๕ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ครูเอื้อ สุนทรสนาน เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้เป็นเพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในโอกาสที่ก่อตั้งมาครบ ๒๐ ปี นายเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงจึงได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพลงว่า “พระมหามงคล” และได้อัญเชิญมาบรรเลงนำประจำวงสุนทราภรณ์มาจนทุกวันนี้

 

36. ยูงทอง

ยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ประพันธ์ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จน พ.ศ. 2504 นักศึกษากลุ่มหนึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504

 

37. ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)

เพลงพระราชนิพนธ์ ในดวงใจนิรันดร์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๗ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

 

38. เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)

เตือนใจ Old-Fashioned Melody เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๘ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

 

39. ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์

เพลงพระราชนิพนธ์ ไร้เดือน หรือ ไร้จันทร์ หรือ No Moon เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย ชื่อ “ไร้จันทร์” ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวายชื่อ “ไร้เดือน”

 

40. เกาะในฝัน (Dream Island)

เพลงพระราชนิพนธ์ เกาะในฝัน หรือ Dream Island เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๐ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

 

41. แว่ว (Echo)

เพลงพระราชนิพนธ์ แว่ว หรือ Echo เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๑ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย เพลงนี้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ ๑ ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙

 

42. เกษตรศาสตร์

เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งจัดว่าเป็น 1 ใน 3 สถาบันการศึกษาที่พระองค์ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบัน โดยอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2492 และเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทองที่พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2506

 

43. ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)

เมื่อ พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

 

44. เราสู้

เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ นายสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ ๔ บท จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย

เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด ๕ เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เสร็จแล้วพระราชทานให้ วง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส

 

45. เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21)

เพลงพระราชนิพนธ์ เรา-เหล่าราบ ๒๑ หรือ We-Infantry Regiment 21 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๕ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพลงนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ร้อยตำรวจโทวัลลภ จันทร์แสงศรี แต่งเนื้อเพลงให้แก่กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ หรือที่รู้จักในนามว่า “ทหารเสือพระราชินี” แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพระราชทาน

 

46. Blues for Uthit

เพลงพระราชนิพนธ์ Blues for Uthit เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 46 ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522 และได้พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2522

47. รัก

เพลงพระราชนิพนธ์ รัก เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงสำหรับกลอนสุภาพ ๓ บท ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา

 

48. เมนูไข่

เพลงพระราชนิพนธ์ เมนูไข่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๘ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ “เมนูไข่” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

 

ที่มา – https://th.wikipedia.org/wiki/เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Writer Profile : Nokkaew
ชายหนุ่มที่กินข้าวอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ กินข้าวเสร็จก็กินน้ำ เสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำ ตอนเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียน ชอบซื้อหนังสือมุราคามิ แต่ยังไม่ได้อ่านสักเล่ม อยากเห็นโลกออนไลน์มีแต่สิ่งดีๆ และมีความสนุก
Blog : www.goohiw.com Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save