category รณรงค์เตือนสติก่อนรุมด่าใน Social กับ 4 แคมเปญดีๆ ให้เราได้ "คิดก่อนแชร์"

Writer : pearlkeira

: 4 ธันวาคม 2559

4-social-campaigns-think-before-share

คลิกเดียวก็เสียวได้… อำนาจสื่ออยู่ในมือเรา

เพราะโลกโซเชียลหมุนเร็วยิ่งกว่าอะไร มีข้อมูลข่าวสารมากมายผ่านตาเราทุกๆ วัน และสิ่งที่เราอ่าน ดราม่าที่เราไลค์ แชร์ คอมเม้นกันนั้นก็มีทั้งเท็จและจริงปนเปไปหมด แถมมีเน็ตสามจีสี่จี แค่คลิกแชร์ เผลอแพร้บเดียวเรื่องราวก็โด่งดังไปข้ามจังหวัดข้ามประเทศซะแล้ว

ถ้าใครยังจำกันได้ หนึ่งในกรณีดังที่คนไทยแชร์กันไปอย่างรวดเร็วปานปรสิตเกิดคือกรณีของ “หนุ่มโรคจิตบน BTS แอบติดกล้องจิ๋วไว้ที่รองเท้า” เหล่ามนุษย์โซเชียลไม่รอช้า รุมคอมเมนท์ประณามด่าสาปส่ง พร้อมใจดีอยากเตือนภัยให้ชาวบ้านรู้โดยทั่วกัน กดแชร์ต่อกันไปรัวๆ เชื่อฝังใจไปแล้วว่าไอ้ผู้ชายหน้าตาแบบนี้มัน แกมันไอ้โรคจิต!

2-shoes-cam-social-victim

เวลาผ่านไปชาวโซเชียลหันไปเสพเรื่องอื่นกันจนเกือบลืมพี่โรคจิตคนนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ ก็ต้องตกใจกันอีกครั้ง เพราะกลายเป็นมีข่าวอัพเดทมาใหม่ ว่ารองเท้าที่พี่เขาใส่นั้นมันแค่ขาดเป็นรู ไม่ได้มีกล้องจิ๋วไฮเทคอะไรไปติดไว้ และเขาก็ไม่ได้เป็นคนไม่ดีแอบถ่ายใต้กระโปรงสาวแต่อย่างใด… เหตุการณ์กลับตาลปัตร ถึงแม้จะมีการแชร์ข่าวแก้ไขข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ได้เปลี่ยนชีวิตของผู้ชายคนนึงไปตลอดกาล

ในเรื่องร้ายก็ยังมีเรื่องดี… จับเทรนด์รณรงค์เรื่องดีๆในโซเชียล

หลังจากมีกรณีนี้เกิดขึ้น ชาวโซเชียลเริ่มตื่นตัว และหลายฝ่ายเริ่มออกมารณรงค์ให้ผู้คนหันมาใส่ใจ หยุดคิดสักนิด เพื่อ “คิดก่อนแชร์” ก่อนที่อำนาจสื่อในมือเราจะทำลายชีวิตใครไปมากกว่าที่เราคิด

#1 “Message from a dead man คุณเคยเห็นคนตายพูดได้ไหม” จาก #‎BETTERSOCIAL

“ผมไม่ได้ติดกล้อง ภาพรองเท้าขาดเกิดจากการไปช่วยพี่คนหนึ่งซ่อมแอร์ ตอนเห็นรูปนั้นตกใจมากไม่ได้กิน ไม่ได้นอน หลังจากวันนั้นชีวิตผมก็เปลี่ยน เจอสายตาเเต่ละคนที่มองดู…เฮ้ย โรคจิต ความรู้สึกช่วงเวลานั้นเครียดไม่กล้าออกไปไหน…”

แคมเปญรณรงค์เล่าเหตุการณ์ต่อเนื่อง ชีวิต และความรู้สึกของคุณ จิรวุฒิ ลิมปนาทไพศาล หลังถูกตกเป็นจำเลยสังคมในกรณีโรคจิตติดกล้อง ทั้งที่จริงๆแล้วเพียงแค่รองเท้าขาดหลังจากไปซ่อมแอร์ เรื่องราวไม่ได้อยู่แค่ในโลกอินเตอร์เน็ต แต่ยังลามไปถึงการใช้ชีวิตจริง ถูกสังคมมองอย่างเหยียดหยาม สร้างความเครียด ความกดดันให้กับตัวเองและครอบครัว จนไม่เหลือที่ยืนในสังคม และไม่อยากจะออกไปพบเจอสังคมที่โหดร้ายนี้อีกแล้ว ตลอดคลิปมีเนื้อหากินใจ ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเหยื่อโซเชียลหลังจากโดนคนแชร์ข้อมูลออกไปแบบผิดๆ และเชิญชวนให้ชาวโซเชียล เช็คคิดก่อนแชร์มากขึ้น

#2 “คิดก่อนเชื่อ เช็คก่อนแชร์ #ตั้งสติหน่อยค่อยโซเชียล” จาก AIS

“ทามะนาว รักษามะเร็งได้” หลายๆ คนคงเคยเห็นโพสประเภทเคล็ดลับดูแลสุขภาพ ยานู้นสมุนไพรนี้ช่วยโรคล้านแปดอย่างได้ ยิ่งกว่าน้ําสมุนไพรป้าเช็ง! แต่จริงๆแล้วข้อมูลที่แชร์ไปอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้ ไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง กลายสร้างความเข้าใจผิดๆ เพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก อีกคลิปรณรงค์ที่ทำให้เราหยุดคิดซักนิด แล้วตั้งสติหน่อยค่อยโซเชียล

#3 “Thank you for sharing” จาก ดีแทค ผลงานผู้กำกับ เต๋อ นวพล

“ก็แค่ขำๆ ปะ” อาจเป็นความคิดที่ทำให้เราเผลอลืมตัว ใช้พลัง “แชร์” ทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัวเพียงเพราะเห็นเป็นเรื่องสนุก อีกหนึ่งแคมเปญดีๆ ที่รณรงค์ในประเด็น คิดก่อนแชร์ และ Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งกันผ่านโลกไซเบอร์ ผ่านหนังสั้นของฝีมือผู้กำกับสุดแนว เต๋อ นวพล เล่าเรื่องราวธรรมดาๆ ตัวละครนักเรียนหญิงสาวที่ดูไม่มีพิษภัยอะไร เพียงแค่ถ่ายคลิปแกล้งเพื่อนแล้วส่งต่อกัน แต่กลายเป็นทำลายชีวิตเพื่อนนักเรียนอีกคนผู้โดยกลั่นแกล้งให้อับอาย

ถ้าให้นึกถึงสมัยก่อนจะมีอินเตอร์เน็ต ก็คงเป็นการแกล้งทั้งทางกายหรือวาจา หรือการล้อเลียนกันของเด็กๆในวัยเรียน ดูเผินๆอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วมีผลกระทบต่อจิตใจและกลายเป็นปมของผู้ถูกแกล้งไปตลอด พอทุกอย่างคอนเน็คกันเร็วไปหมดในยุคนี้ การแกล้งแบบออฟไลน์พัฒนามามีอำนาจทวีคูณ ส่งกันไปกันมาจนความรุนแรงไม่ใช่แค่ในสังคมเล็กๆอีกต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองให้ชาวโซเชียลได้คิดก่อนแชร์ หยุดส่งต่อ หยุดดู และหยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์

#4 เคยถูกเกลียดเพราะติดโซเชียลมั้ย? #socialholic จาก KTB Care

อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ เริ่มจากแนวคิดต้นตอ “คิดก่อนแชร์” รวมไปถึง “อย่าด่วนตัดสินคนจากโซเชียล” ในคลิปเล่าถึงสาวสวยที่ดูเหมือนจะแค่ถ่ายรูปอวดชีวิตดีๆ ไปวันๆ กองทัพโซเชียลจึงพร้อมออกทำการ รุมคอมเมนท์ เสียดสี แคปรูปแชร์ต่อ เม้ากันสนั่นว่าวันๆสาวเจ้าไม่ทำงาน เอาแต่ถ่ายรูปแอ๊บสวย ใช้เงินเป็นน้ำ ทำตัวอยู่ในสังคมดัจริต!

ตอนท้ายของเรื่องก็มาเผยให้เห็นความจริงอีกด้าน ว่าสาวสวยคนนี้ทำร้านขายของออนไลน์ ใช่สื่อออนไลน์ถ่ายรูปโปรโมทของจนขายดิบขายดี ประสบความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง พร้อมทั้งมีฝันอันยิ่งใหญ่ไปเรียนต่อต่างประเทศอีกด้วย ไม่ใช่แค่สวยไปวันๆ แบบที่ผู้คนคอมเม้นท์แชร์ต่อไปกันต่างๆ นานา จริงๆแล้วตัวคลิปเป็นหนังโฆษณา แต่ก็เป็นแคมเปญที่ชาวโซเชียลหลายคนชื่นชม เป็นอีกหนึ่งแง่คิดให้เราต้องหยุดใช้โซเชียล ส่งต่อความเกลียดชังทำร้ายชีวิตคนได้แล้ว

ปฏิรูปพลเมืองโซเชียล ร่วมกันทำสังคมออนไลน์ให้มีคุณภาพ ต้อง “คิดก่อนแชร์”

ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ให้ “พลเมืองโซเชียล” ฉุกคิดก่อนแชร์ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อไป จากอำนาจสื่อในมือของเราที่มีเพิ่มขึ้น ง่ายขึ้น และเร็วขึ้นไปทุกวัน ทางฝั่งเมืองนอกจาก เฟสบุ๊ค หรือ กูเกิ้ลเอง ก็ยังมีคลิปรณรงค์เรื่อง คิดก่อนแชร์ ร่วมรณรงค์เป็นแคมเปญระดับโลกเช่นกัน

เฟสบุ๊ค และมีเดียสมาร์ท เสนอ 6 ข้อง่ายๆ ให้เรา คิดและตรวจสอบข้อเท็จจริง ทุกครั้งก่อนแชร์

การแชร์เรื่องเกี่ยวกับตัวเรา

  • ถ้าเราแชร์อะไรออกไป นี่คือสิ่งที่อยากให้คนอื่นเห็นตัวเราเป็นแบบนี้หรือเปล่า (เช่น เราแชร์ว่าร้ายคนอื่น ตัวเราเองก็อาจถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีเช่นกัน)
  • จะมีใครสามารถนำเรื่องที่เราแชร์ มาทำร้ายเราในภายหลังหรือไม่ หรือ เราจะโกรธไหมถ้ามีคนเอาเรื่องนี้ไปแชร์ต่อ
  • สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ หากเราแชร์เรื่องนี้ออกไป

การแชร์เรื่องเกี่ยวกับผู้อื่น

  • คนที่ส่งเรื่องนี้มาให้ตั้งใจอยากให้เรื่องนี้ถูกแชร์ต่อหรือเปล่า
  • ข้อมูลนี้ได้รับการอนุญาตให้แชร์ต่อจากคนที่อยู่ในเรื่องราวหรือยัง
  • เราจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีคนแชร์เรื่องแบบนี้ แต่เป็นเรื่องของเรา

7-think-before-you-share-min-1024x528

สำคัญที่สุดว่าการ แชร์เพียงแค่คลิกเดียว คืออำนาจอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในโลกโซเชียล คิดทุกครั้งก่อนแชร์ แล้วเราจะมีความสุขกับสังคมออนไลน์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

TAG : ais , dtac , ktb , social , social media
Writer Profile : pearlkeira
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

7 สถานการณ์ Facebook in Real Life

[ไม่มีสปอยล์] 5 ความเจ๋งของ Stranger things ทำไมใครๆ ก็ต้องดู ??

[Quiz] คุณรู้จักโลก Social ดีแค่ไหน ลองมาทำแบบทดสอบนี้กัน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save