Mango Zero

รู้จักกับ ‘3 กิจการเพื่อสังคม’ ที่เปลี่ยนสังคมด้วยธุรกิจของตัวเอง ผู้ชนะจาก ‘Banpu Champions for Change’ ปีที่ 7

กิจการเพื่อสังคม‘ หรือ ‘Social Enterprise’ นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ในไทย และเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมานานแล้ว โดยเสน่ห์ของกิจการเพื่อสังคมก็คือการทำธุรกิจที่ไม่ได้หากำไรเข้าตัว แต่เป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชนสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมมาโดยตลอดผ่านการจัดโครงการ ‘Banpu Champions for Change’ เพื่อหากิจการเพื่อสังคมสุดยอดแห่งปีมาแล้ว 6 ปีติดต่อกัน สำหรับปีที่ 7 ก็เพิ่งประกาศผลไปเรียบร้อย ในงาน Banpu Champions for Change’s Impact Day

‘Banpu Champions for Change’ นั้นเป็นโครงการที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2554 เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20 – 35 ปีส่งธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเองเข้าประกวด โดยตลอดเวลาที่ผ่านมามีกิจการเพื่อสังคมกว่า 6 รุ่น ได้รับเงินทุนสนับสนุน และที่ปรึกษาในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งกิจการเพื่อสังคม 61 แห่งที่ร่วมโครงการนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมากมายทั้ง

พูดคุยกับ 3 กิจการเพื่อสังคมที่น่าจับตามอง

สำหรับปีนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 ใน 5 ผู้ชนะจากโครงการ ‘Banpu Champions for Change’ ปีที่ 7 โดยแต่ละทีมนั้นมีกิจการเพื่อสังคมที่ช่วยเหลือสังคมในมุมที่ต่างกันไป แต่ทุกทีมก็ดำเนินธุรกิจโดยยึดถือหัวใจเดียวกันคือช่วยสนับสนุนสังคมที่ตัวเองอยู่หรือเติบโตมา ในมุมที่ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทุกฝ่าย

Farm -To 
โตอาทิตย์ จันทร์นนทชัย 

Farm – To เป็นธุรกิจที่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรให้ขายสินค้าทางการเกษตรปลอดสารเคมีได้อย่างเป็นธรรม และยังทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ได้ประโยชน์ด้วย โดยไอเดียของธุรกิจนี้คือการเสนอทางเลือกให้เกษตรกรได้เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเดิมที่ทำการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยเคมีราคาแพง ให้หันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ที่แม้ได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่ก็สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม โดยที่ Farm-To จะหาผู้ซื้อให้ ที่สำคัญผู้ซื้อยังได้มาเจอกับผู้ปลูกโดยตรง

แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณสนใจทำ Farm – To เริ่มต้นจากไหน 
อาทิตย์
Farm – To มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เรามีความสนใจเรื่องการทำนา และใช้เวลาช่วงวันหยุดไปฝึกหัดทำนาโดยซื้อที่ดินมาทำนาของตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนของพ่อ ตอนหลังมารู้ว่าที่ดินกว่า 60 ไร่ที่เฉลี่ยเงินซื้อมานั้นเป็นที่นาของชาวนาที่ถูกยึดจากเกษตรกรที่ติดหนี้ธนาคารจากการไปซื้อปุ๋ยเคมีมาเพาะปลูก แล้วไม่สามารถไถ่คืนจากธนาคารได้

ยิ่งรู้ข้อมูลภายว่าเกษตรกรไทยแม้จะผลิตผลผลิตมาเยอะแค่ไหนก็แทบจะไม่เพียงพอเพราะต้นทุนการผลิตที่เป็นปุ๋ยเคมีนั้นแพง เรามองเห็น Pain Point ของเกษตรกร จึงอยากมาช่วยเหลือให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อปลูกพืชปลอดสาร แต่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม

จุดมุ่งหมายของเราคือการแก้ปัญหาผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ตกต่ำ และเพิ่มจำนวนคนทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เมื่อก่อนอาจจะคำนวนได้ไม่ถึง 1% แต่ผมเชื่อว่าการทำฟาร์มในรูปแบบ Farm – To จะทำให้มีเกษตรกรอินทรีย์เพิ่มขึ้นในประเทศ และแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ไม่มีเงินทุนในการผลิต และขายสินค้าในราคาเหมาะสม

 

เกษตรกรไม่กล้าเปลี่ยนขนบเดิมอยู่แล้ว แต่อะไรที่ทำให้คูณจูงใจให้เขามาเชื่อใจคุณได้
อาทิตย์ : เราไปบอกให้เกษตรกรในพื้นที่ฟังว่าโมเดลธุรกิจของเรานั้นมีผู้บริโภคต้องการผลผลิตแบบนี้อยู่ โดยโมเดลนี้เริ่มต้นทำในที่นาเราเอง ซึ่งผู้บริโภคที่ต้องการผลผลิตจะมาดูแปลงปลูกด้วยกัน ก็มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งสนใจวิธีคิดแบบนี้ ซึ่งสามารถทำได้จริง เมื่อก่อนอาจจะมองว่าไกลตัวเพราะว่าเกษตรกรปลูก เก็บผลผลิตที่ดี แล้วขายสู่ตลาดแต่วันนี้เราขายประสบการณ์การปลูกตั้งแต่เริ่มต้น มีผู้ซื้อมารอ และผู้ปลูกเห็นหน้าผู้ซื้อตั้งแต่ต้นมันเป็นแบบนี้นี่เอง

หลังจากนั้นก็เริ่มมีเกษตรกรในชุมชนติดต่อเข้ามาเพราะเราพยายามเล่าให้ชุมชนฟัง ชุมชนก็พยายามปรับเปลี่ยน เริ่มต้นยังเป็นความเข้าใจที่ยุ่งยาก เพราะธุรกิจแนว Farm – To นั้นยังไม่เคยมีมาก่อน เราเลยเริ่มต้นติดต่อกับเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ สื่อสารได้ง่าย ใช้สมาร์ทโฟนเป็นในช่วงแรกก่อนที่จะกระจายแนวคิดนี้ไปยังเกษตรกรคนอื่นที่เห็นภาพตรงกันกับเรา

แล้วกับผู้บริโภคคุณสื่อสารกับเขาอย่างไร
อาทิตย์ : 
สำหรับผู้ซื้อเราต้องทำความเข้าใจกันไปด้วยเบื้องต้นในช่วงการทดลองมีลูกค้าราวๆ 100 คน แต่เป็นจำนวนคนที่ชื่นชอบการเพาะปลูก และการบริโภคแบบนี้ เราก็เพิ่มเกษตรกรในโครงการอีกก็มีการบอกต่อในหมู่ของคนที่ชอบ และผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ตอนแรกตลาดดูเป็น Niche Market แต่ว่าจริงๆ แล้วมีผู้บริโภคที่รักสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเกษตรกรที่เราชวนมาร่วมกิจการกับเรา

Farm – To มี Business Model อย่างไร
อาทิตย์ : 
โมเดลธุรกิจของเราคือ จะไปทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ไปหาจุดเด่น ไปร่วมสร้างแบรนด์ หรือโปรโมทแบรนด์ของเกษตรกร และเกษตรกรจะได้มีแบรนด์ของตัวเอง และสามารถตั้งราคาขายผลผลิตได้ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เกษตรกรสามารถคำนวนพื้นที่การเพาะปลูกของตัวเองได้แล้วให้ผู้บริโภคมาจองพื้นที่โดยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จะเกิดการค้าขายที่ยั่งยืน

ในส่วนรายได้ หากมีผู้บริโภคจองผลผลิตเข้ามา เราจะโอนเงินให้เกษตรกรก่อน 50% ทำให้เขามีเงินทุนในการเพาะปลูก เมื่อเกษตรกรไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น เมื่อส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคเขาก็จะได้อีก 50% ส่วนทางเราไม่ได้หักส่วนแบ่งจากทางเกษตรกรเลย เกษตรรับค่าผลผลิตเต็มๆ แต่เราจะคิดค่าบริหารจัดการจากทางผู้บริโภค 20% แทน

Art for Cancer 
ออย – ไอรีล ไตรสารศรี 
เบลล่า – ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ 

จุดเริ่มต้นจากการเป็นมะเร็งของออยไอรีลเมื่อ 5 ปีก่อนไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เธอนำความเจ็บป่วยมาผสมผสานกับศิลปะที่ถนัดกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อไปยังเพื่อนร่วมโรคเพื่อให้มีกำลังใจต่อสู้กับโรคร้ายต่อไป โดยเธอตั้งเพจ ‘Art for Cancer’ ขึ้นมาเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยคนอื่นด้วยศิลปะ

ต่อมาเธอได้มาเจอกับเบลล่า ศิริณทิพย์ผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกคนหนึ่งซึ่งมีความสามารถในเชิงมาร์เก็ตติ้ง ทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่า Art for Cancer จะช่วยชีวิตผู้ป่วยคนอื่นได้แต่ต้องทำให้โปรเจคนี้เป็นธุรกิจที่เลี้ยงองค์กรได้ด้วย จึงเปลี่ยน Art for Cancer  มาเป็นกิจการเพื่อสังคม เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยโรคมะเร็งพร้อมสร้างอาชีพให้ด้วย

Art for Cancer เปลี่ยนจากโปรเจคการกุศลมาเป็นกิจการเพื่อสังคมได้อย่างไร
ไอรีล
: ตอนที่เราป่วย เราตัดสินใจลุกขึ้นมาทำโปรเจคการกุศลเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่จุดเปลี่ยนคือปีนี้เรารู้สึกว่าเราอยากให้สิ่งที่ทำนั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน และต่อยอดไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ต่อไปในอีก 10 ปี หรือ 20 ปี แม้วันนึงเราไม่อยู่แล้ว เลยสนใจในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม

การทำกิจการเพื่อสังคมตอบโจทย์ในเรื่องของการทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงช่วยเหลือผู้ป่วย พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเขา พัฒนากำลังใจ ให้เขาได้มีรายได้ โดยโปรดักท์ของเราคือเสื้อ ตุ๊กตาทำมือ และอื่นๆ ซึ่งเป็นงานแฮนด์เมดที่มาจากไอเดียของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมา

แนวทางที่ทำให้ธุรกิจของพวกคุณให้ยั่งยืนคืออะไร
เบลล่า
Business Model ของเรานั้นคือเราจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ป่วยกับคนในสังคมในการทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงสินค้าและบริการ โดยที่เราจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชนให้เกิดการผลิตสินค้า และบริการ

เช่นการจัดเวิร์คช็อปโดยใช้ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยมะเร็งมาสร้างแรงบรรดาลใจให้คนในสังคม พวกนี้คือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งให้คนในสังคมด้วย รวมถึงผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในคนที่สร้างแรงบันดาลใจในคนในสังคม ก็เป็นบิซิเนสโมเดลของเรา

คุยกับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยอย่างไรถึงยอมมาร่วมกับคุณ
เบลล่า
: เราเคยเป็นอดีตผู้ป่วยกันมาก่อนดังนั้นเวลาเข้าไปมันก็เหมือนกับเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ให้กำลังใจเขา แต่เราไม่ได้เข้าไปให้กำลังใจอย่างเดียว แต่เข้าไปให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรารู้ว่ามะเร็งเป็นโรคที่ผ่านมาได้อย่างยากลำบาก นอกจากกำลังใจที่ดี ทัศนคติที่ถูกต้องแล้ว กำลังทรัพย์ในการสู้กับโรคก็ต้องมี ซึ่งตรงส่วนนี้เราเข้าไปคุย ผู้ป่วยก็เปิดใจยอมให้เราเข้าไปช่วย

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งไม่ต้องการความสงสาร ไม่ต้องการรับบริจาค บางทีไม่อยากบอกใครด้วยว่าเป็นมะเร็ง แต่เขาเองอยากให้มีคนเข้าใจ และเราเป็นคนที่เข้าใจเขา ไปทำให้เขาภูมิใจในตัวเองว่าถึงแม้ว่าคุณเป็นผู้ป่วย คุณก็ไม่ได้เป็นภาระของสังคม คุณสามารถมีรายได้ที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้เหมือนกัน

นอกจากให้กำลังใจผู้ป่วยแล้ว คนที่ไม่ป่วยจะได้อะไรกลับไปจาก Art for Cancer ในฐานะกิจการเพื่อสังคม 
ไอรีล
จริงๆ แล้วโรคมะเร็งยังเป็นปัญหาของคนไทย เพราะคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ทุกๆ 8 นาทีจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 1 คน ทุก 2 นาทีจะมีคนถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง แล้วมันจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นมาคือทัศนคติในการรับมือกับโรค คนมักจะมองว่าการเป็นมะเร็งคือจุดสิ้นสุดของชีวิต เป็นแล้วจะต้องตาย หมดอนาคต

แต่สิ่งที่เราทำคือเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้ป่วย และคนในสังคมมองโรคมะเร็งในมุมที่ต่างออกไป และยังสามารถใช้ชีวิตได้ หรือทำตัวเองให้มีคุณค่าได้ แม้กระทั่งคนที่ดูแลผู้ป่วยก็สามารถมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งแก้ผู้ป่วยได้ คนที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งต้องรับมืออย่างไร เรามองว่ามันเป็นเรื่องของการใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการแบ่งปันให้คนอื่น

ภูคราม 
เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง 

เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวงอดีตนักประวัติศาสตร์ชุมชนที่เรียนและทำงานอยู่ในเมืองหลวงมานาน ตัดสินใจหันหลังให้เมืองหลวงเดินทางกลับสู่บ้านเกิด ที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนางานย้อมผ้าในชุมชนที่เติบโตมา เพื่อสอนให้ชาวบ้านสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ และขยายตลาดไปในวงกว้างมากกว่าเดิมโดยใส่เอกลักษณ์ของชุมชนลงไปในงานด้วยเพื่อสร้างความโดดเด่น และสร้างอาชีพเสริมให้ชาวบ้านได้มีงานทำ

ทำไมถึงตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ แล้วกลับมาทำแบรนด์ภูครามที่บ้านเกิด 
ปิลันธน์
 :
เราเป็นคนในชุมชน เป็นคนที่อยู่ในชุมชน แต่ไปเติบโตที่อื่น ทำงานที่อื่นแล้วรู้สึกว่าอยากจะกลับบ้าน รวมทั้งที่บ้านทำงานย้อมผ้าฝ้ายอยู่แล้ว และเราเป็นนักประวัติศาสตร์ ทำงานประวัติศาสตร์ชุมชนมาก่อนก็รู้สึกว่าการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต หรือการเป็นอยู่ดั้งเดิมของคนในพื้นที่นั้นมันคือธรรมชาติเรา

เราคิดว่าสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับงานได้ในชุมชนได้ ก็เริ่มลาออกจากงานแล้วกลับมาที่ชุมชนของตัวเอง ศึกษาชุมชนของตัวเองว่ามีอะไร เอาแนวคิดเดิมที่เคยเรียนมาต่อยอดเรื่องเหล่านี้

ภูคราม เข้ามาช่วยอะไรแก่คนในชุมชน
ปิลันธน์ : เราเข้าไปเพื่อสร้างอาชีพ โดยทำธุรกิจขายสินค้าแฟชั่นผ้าทอ ผ้าปักลายเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น ที่ทำจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ อันที่จริงงานทอผ้าหรือการย้อมสีธรรมชาติก็มีคนทำเยอะเหมือนกัน แต่ก็จะมีกลุ่มที่ไม่มีตลาด ภูคราม จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตลาดให้ชาวบ้านด้วยส่วนหนึ่ง และหาตลาดให้ชาวบ้านที่ทำงานนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังไปช่วยให้ไอเดียในการสร้างงาน อย่างงานปักผ้าจากผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ถือว่าเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในชุมชน แต่เราเพิ่มเข้าไปโดยการฝึกคนในชุมชนให้มีทักษะในการปักเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากกว่าที่เป็นอยู่

ชุมชนได้รับอะไรจากสิ่งที่ ‘ภูคราม’ ทำให้ในฐานะกิจการเพื่อสังคม
ปิลันธน์ : เราทำงานเพื่อที่จะสร้างให้เกิดรายได้ในชุมชน ไม่อยากให้มีการไปทำงานที่เมืองหลวง เราทำให้คนในพื้นที่มีอาชีพในพื้นที่ของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น เราไม่รู้ว่าชุมชนได้อะไรจากเราไปอีกบ้างต้องไปถามคนในชุมชน แต่ที่เรารู้คือภูคราม ไม่ได้เป็นอาชีพหลักให้คนในชุมชน

เราต้องการให้เป็นอาชีพเสริมเพื่อที่จะทำให้เขาได้อยู่กับงานเกษตรของเขาได้ เรารู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเรื่องเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นสองสิ่งนี้จะเป็นอาชีพที่เกื้อหนุนส่งเสริมกันโดยที่เขาสามารถอยู่ในชุมชนได้ยาวๆ ไม่เดือดร้อน

ตลอดเวลาที่ผ่านมาในการกลับมาที่บ้านแล้วช่วยสร้างอาชีพให้ชุมชน คุณได้รับอะไรกลับไป
ปิลันธน์ : 
ทำภูคราม มาทั้งหมดสามปีกว่าเราได้รับเยอะมาก  มันคือการฝึกตัวเองด้วย ที่ผ่านมาเราเรียน และทำงานที่กรุงเทพฯ มาตลอด การกลับบ้านเกิด คือการปรับตัวอีกรอบหนึ่ง ซึ่งมันก็ฝึกตัวเองด้วย เราต้องการอะไรจริงๆ เวลาเราทำงานกับชุมชน ทำงานกับคนมากมายความคิดเห็นก็หลากหลายทำให้เรามองเห็นตัวเรา มองเห็นคนอื่น เป็นการฝึกวินัยมาก และช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่น

บทสรุปผู้ชนะจากโครงการ ‘Banpu Champions for Change’

การประกวด  ‘Banpu Champions for Change’  ปีที่ 7 จบลงแล้วเราได้กิจการเพื่อสังคมที่มีเจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ 5 กิจการ ซึ่งแต่ละธุรกิจนั้นก็เข้ามาช่วยเหลือสังคมกันคนละแบบทั้งเรื่องชุมชน, สิ่งแวดล้อม สุขภาพกาย และสุขภาพจิต โดยเราจะมาทำความรู้จักกับ 5 กิจการเพื่อสังคมแห่งปีจากโครงการนี้กัน