เมื่อวันที่ 12 ก.พ. พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการกระชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้ อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท
ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประมาณ 48.26 ล้านคน โดยเมื่อเพิ่มงบประมาณปี 2563 แล้วจะคิดเป็นอัตราเหมาจ่าย 3,600 บาทต่อหัว เพิ่มขึ้นจากปี 2562 173 บาทต่อหัว
โดยงบที่ได้รับมีรายละเอียด ดังนี้
- งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 1.74 แสนล้านบาท
-
งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ 3,596 ล้านบาท
-
งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,405 ล้านบาท
-
งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง 1,037 ล้านบาท
-
งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 1,490 ล้านบาท
-
งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน 1,025 ล้านบาท
-
งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 268 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากงบเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวจะนำมาสู่การพัฒนาระบบ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน และเตรียมเดินหน้าเพิ่มความสะดวกในอีกหลายด้าน
เช่น เพิ่มการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปีให้เกิดความสะดวกมากขึ้น, เพิ่มบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับอีก 12 รายการรวมเป็น 24 รายการ,ปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่, การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกกลุ่มอายุ เป็นต้น
ที่มา : Workpoint News