“รู้ปะ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ชีวิตคนเรา จะมีเพื่อนได้มากสุด 150 คน” คำพูดจาก “โจ” หนึ่งในตัวละครหลัก จากเรื่อง “เพื่อน (ไม่) สนิท” ภาพยนตร์แนว coming of age จากค่ายหนังดัง GDH ซึ่งเพียงแค่ประโยคนี้ประโยคเดียว ก็เรียกได้ว่าดึงความสนใจจากผู้ชมไปได้มากทีเดียว พร้อมกับการตั้งคำถามว่า “คนเรามีเพื่อนได้ทั้งหมด 150 คน จริงหรือไม่” แม้มันอาจจะเป็นเพียงการตั้งคำถามเล่นๆ คนเราใครจะเสียเวลาไปนั่งนับหรือรื้อฟื้นกันล่ะว่ามีเพื่อนในชีวิตถึง 150 คนหรือเปล่า แน่นอนว่าการพิสูจน์ข้อสันนิษฐานอะไรสักอย่างนั้นก็คงต้องเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ และข้อสันนิษฐานที่กล่าวไปข้างต้นนั้นก็มีผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ไว้จริงจนออกมาเป็นงานวิจัย วันนี้ ! แมงโก้จึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานดังกล่าว พร้อมกับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องของ “เพื่อน” ให้เข้าธีมกับภาพยนตร์ “เพื่อน(ไม่)สนิท” ที่กำลังจะฉายเร็วๆ นี้กันดีกว่า ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationships) ถ้าพูดตามหลักจริงๆ แล้ว โครงสร้างของความสัมพันธุ์ในรูปแบบต่างๆ นั้น ก็เริ่มต้นมาจาก ความสัมพันธ์ทางสังคม หรือ Social Relationships ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในหลากหลายประเด็น ในทางมานุษยวิทยาดั้งเดิมนั้น ขนาดของกลุ่มจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความสมดุลของประโยชน์ที่จะได้รับกับต้นทุน และการอยู่รวมกลุ่มกันนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกล่าจากศัตรู อีกทั้งเป็นวิธีการเอาชีวิตรอดในรูปแบบหนึ่ง เมื่อปี 1992 โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ได้เริ่มตั้งสมมติฐาน Social Brain Hypothesis (SBH) ภายใต้ความเชื่อที่ว่า สมองของมนุษย์มีขีดจำกัดในการจำรายละเอียดต่างๆ นั่นคือ จำนวนของเพื่อนมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสมองส่วนหน้า ซึ่งเมื่อได้ทำการวิจัยแล้ว ข้อสรุปที่ได้นั้นกลายเป็นตัวเลข “150” ดังที่ตัวละครในเรื่องพูด “Dunbar’s Number” หรือตัวเลข 150 สิ่งที่ตัวละครโจได้พูดนั้นมีทฤษฎีและข้อพิสูจน์จริง เพียงแต่บุคคลที่พิสูจน์เรื่องนี้ไม่ใช่ “นักวิทยาศาสตร์” แต่เป็น “นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ” ที่มีชื่อว่า “โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar)” จากงานวิจัย “Journal of Human Evolution” เมื่อปี 1992 ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์แต่ละคนสามารถจัดกลุ่มของตัวเองได้ดีเมื่อกลุ่มนั้นมีจำนวนไม่เกิน 150 คน ซึ่งข้อเสนอนี้แพร่หลายจนทำให้เลข 150 ถูกเรียกว่า “Dunbar’s Number” ส่วนวิธีการทดลองหรือเหตุผลต่างๆ นั้น หากรื้อข้อมูลตั้งแต่ต้นคงได้อธิบายกันอย่างยาวเหยียด และคงมีศัพท์ทางเทคนิคมากมายที่เราเองอาจจะไม่เข้าใจ จึงได้มีการสรุปสั้นๆ ให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจง่ายดังนี้ ข้อสมมติฐานตัวเลข 150 นั้น ดันบาร์ได้ลองศึกษาสมองของสัตว์จำพวกไพรเมตชนิดต่างๆ และพบความเชื่อมโยงระหว่างขนาดของสมองส่วน Neocortex และขนาดสมองนี้เองเป็นตัวกำหนดความสามารถในการรวมกลุ่มของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น และสร้างความสัมพันธ์ซับซ้อนที่เรียกว่า ‘Social brain hypothesis’ เมื่อพบความเชื่อมโยงจากการศึกษาชุดข้อมูลดังกล่าว ดันบาร์ได้ลองเทียบขนาดของ Neocortex กับขนาดร่างกายของมนุษย์ และได้เป็นตัวเลข 148 คนออกมา ก่อนจะถูกปัดขึ้นเป็น 150 คน มากไปกว่านั้น เขาได้สร้างวงของการเข้าถึง (Circle of Acquaintanceship) โดย EGO หมายถึงตัวเราเอง จากนั้นจะเป็นวงของเพื่อนที่สนิทที่สุด 5 คน และจะเริ่มขยายออกไปในอัตราส่วนประมาณ 3 เท่า คือ 15, 50 และ 150 ตามลำดับ ดันบาร์ จึงมักเรียกวงของการเข้าถึงเหล่านี้ว่า วง 5-15-50-150 ซึ่งที่เป็นข้อสังเกตุและประจวบเหมาะไปกว่านั้นคือ ขนาดของวงเช่นนี้เป็นได้ทั้ง ในกลุ่มเพื่อน ในกองทัพ องค์กรธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งนอกจากนี้ ดันบาร์ ยังได้ศึกษาค่าเฉลี่ยของความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่มีต่อเพื่อนแต่ละกลุ่ม รวมถึงจำนวนครั้งของการติดต่อเพื่อสนับสนุนข้อสมมติฐานให้มากขึ้นอีกด้วย และยังผสมผสานแนวคิดเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับข้อจำกัดทางด้านความจำของสมอง จึงได้ผลสรุปงานวิจัยออกมาอย่างที่หลายๆ คนได้ทราบกันว่า เราสามารถมีเพื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มากที่สุด 150 คน เนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านความจำของสมองในการจำรายละเอียดของเพื่อนและเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างมิตรภาพ และถ้าพูดกันแบบง่ายๆ เพื่อนที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือเพื่อน 5 คนแรกนั่นเอง แล้วแบบไหนล่ะถึงเรียกว่าเพื่อน ? ถ้าพูดลอยๆ อาจจะมีข้อสรุปได้เป็นนามธรรมและเห็นภาพได้ไม่ชัด เพราะบางทีการรู้สึกสนิทใจ หรืออยากเรียกคนใดคนหนึ่งว่า “เพื่อน” อาจเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว แต่ถ้าหากอ้างอิงจากแนวคิด ดันบาร์ได้ให้คำนิยามเพื่อนในลิสต์ 150 คนเหล่านี้ว่า “คนที่เราไม่รู้สึกเขินอาย หากถูกชวนไปนั่งดื่มด้วย เมื่อเผอิญมาเจอกันในบาร์โดยมิได้นัดหมาย… และจะรู้สึกผิดเสียยิ่งกว่า ถ้าไม่ได้ตอบตกลงไป” และจาก 150 คนนั้น ก็ยังสามารถจำแนกย่อยลงไปได้อีกจากแผนภูมิข้างต้น ประกอบด้วยเพื่อนสนิทประมาณ 5 คน ถอยออกมาอาจเป็นเพื่อนที่ค่อนข้างใกล้ชิด 15 คน ที่อาจจะไม่ได้สนิทถึงขั้นต้องพูดคุยตลอดเวลา แต่หากขาดหายไปก็จะมีผลกระทบ เกิดความโหวงภายในใจได้ และจากนั้นก็ไล่ความสนิทสนมออกไปจากเพื่อนวงกลมชั้นนอกสุดก่อนจะถึงกลุ่ม 150 คน ที่เราสามารถเรียกได้ว่า “เพื่อน” นั่นเอง จากหนังสือ “The Gift of Imperfection” ของ Brene Brown เธอได้พูดถึงเกี่ยวกับความโชคดีหากคุณมีเรื่องละอายใจบางอย่างเมื่อไปเล่าให้เพื่อนฟังถึงความละอายใจนั้น แล้วเพื่อนของคุณไม่ทำดังต่อไปนี้ เพื่อนที่รู้สึกตกใจในสิ่งที่คุณละอายใจแล้วตอบกลับมาว่า “สมควรแล้วที่รู้สึกอย่างนี้” เพื่อนที่แทนที่จะมี Empathy กลับมี Sympathy หรือความสงสารแทน เพื่อนที่พอคุณเล่าให้ฟังถึงความละอายใจ เขาคนนั้นกลับรู้สึกละอายใจในตัวของคุณเอง เพื่อนที่ไม่ชอบที่คุณเอาเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจมาเล่าให้ฟัง และเขาทำได้อย่างเดียวคือทำให้คุณรู้สึกแย่ลงไปอีก เพื่อนที่ไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกแย่ๆ ที่คุณกำลังรู้สึกอยู่ เพื่อนที่ถือโอกาสใช้ความละอายใจที่คุณกำลังรู้สึกอยู่ทำให้คุณรู้สึกว่าเขาอยู่เหนือกว่าคุณ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น Brene Brown ได้บอกเอาไว้ว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ “เพื่อน” ที่แท้จริง ข้อขัดแย้งและความเป็นจริง และแน่นอนว่า ถึงแม้เรื่องนี้จะมีการพิสูจน์และได้หลักฐานที่รองรับสมมติฐานของ ดันบาร์ ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะน่าเชื่อถือทั้งหมด หรือไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ออกมา เพราะการทดลองและตั้งข้อสงสัยนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ทฤษฎีของ ดันบาร์ ก็ได้ถูกโต้แย้งไม่น้อย นักวิทยาศาสต์หลายท่านก็ได้ออกมาโต้แย้ง เช่น ทฤษฎีของ “เบอร์นาร์ด-คิลเวิร์ท” ที่ระบุว่าเราสามารถมีเพื่อนได้มากถึง 231 คน หรือ “แพทริก ลินเดนฟอร์ส (Patrik Lindenfors)” นักวิชาการด้านสัตวนิเวศวิทยา ได้โต้แย้งว่า สมองของไพรเมต นั้นไม่ได้จัดการกับข้อมูลแบบเดียวกับที่สมองของมนุษย์ทำ ดังนั้นมันจึงผิดตั้งแต่ต้นที่พยายามจะสร้างสมการจากข้อมูลไพรเมตแล้วเอามาสรุปกับมนุษย์ เชื่อว่าหลายๆ คนคงอาจงงๆ และยังมีข้อสงสัย บางคนก็อาจจะไม่ได้เชื่อว่าเพื่อนในชีวิตจะมี 150 คนจริงๆ ดั่งทฤษฎีว่าก็ได้ ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึก ความจำ และปัจจัยมากมายที่ตัวบุคคลจะเรียกใครสักคนว่า “เพื่อน” แต่ถือได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อน(ไม่)สนิท” ก็ได้หยิบยกทฤษฎีที่น่าสนใจมาพูดถึงมากเลยทีเดียว ทำให้ใครหลายคนต้องสะดุดกับตัวเลข 150 และบ้างก็อยากจะหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใครที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านทฤษฎีได้เพิ่มเติมจากหลากหลายแหล่งที่มา อีกทั้งใครที่รอภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อน(ไม่)สนิท” อยู่นั้น เตรียมตัวให้พร้อม นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่อึดใจก็จะได้รับชมกันแล้ว ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ! ตัวอย่างภาพยนตร์ เพื่อน(ไม่)สนิท ที่มา : The MATTER Dek-d setthasat