เทศกาลบอลโลกกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง บรรยากาศคนรอบตัวที่ตื่นเต้น เสียงเฮฮาจากเหล่ากองเชียร์ทีมชาติต่างๆ ดังขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยมจากผู้คน ทั้งเรื่องดราม่า นักเตะ เจ้าภาพ รวมไปถึงมาสคอตนั่นเอง
มาสคอตถือเป็นตัวแทนของเจ้าภาพฟุตบอลโลกในแต่ละปี ซึ่งจะมีการออกแบบให้โดดเด่นเพื่อโชว์ความเป็นประเทศตัวเอง พร้อมแฝงความหมาย และส่งต่อความน่ารักให้มากที่สุด เพื่อให้ภาพลักษณ์เป็นมิตร เข้าถึงง่ายกับผู้ชมทั่วโลกที่มีทุกเพศ ทุกวัย
เราเลยอยากพาทุกคนมาร่วมย้อนความทรงจำดูความน่ารักกับ 15 มาสคอตประจำศึกฟุตบอลโลก ตั้งแต่ปีแรกจนถึง 2022! ว่าจะมีที่มาเรื่องราวความหมายอะไรบ้าง มาดูกันนนนน~
จุดเริ่มต้นวัฒนธรรมสร้างมาสคอตสำหรับฟุตบอลโลก เริ่มในปี
1966 – World Cup Willie 🏴
เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Reg Hoye ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิงโต และยังมีเพลงประจำตัวอีกด้วย
1970 – Juanito 🇲🇽
มาสคอตตัวแรกที่มีลักษณะเป็นคน ถือเป็นตัวแทนแฟนบอลรุ่นเยาว์สื่อถึงความไร้เดียงสา ทำให้ตลอดการแข่งขันปีนี้ไม่มีฟาวล์รุนแรงถึงขั้นแจกใบแดงเลยทีเดียว
1974 – Tip and Tap 🇩🇪
มาสคอตเพื่อนคู่ซี้ที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความปรองดองระหว่างเยอรมนีตะวันออก และตะวันตก
1978 – Gauchito 🇦🇷
มาสคอตเด็กชายที่มาในลุคคาวบอย โดยมีผ้าพันคอ หมวกปีกกว้าง และแส้ที่มือขวา ซึ่งแตกต่างจากเด็กผู้ชาย 2 ปีก่อน เพราะเสื้อใส่พอดีตัวมิดชิด
1982 – Naranjito 🇪🇸
มาสคอตผลไม้ส่งตรงจากสเปน Naranjito ที่แปลว่าส้มมาพร้อมกับรอยยิ้มสดใสกำลังถือลูกบอล 1 ลูก
1986 – Pique 🇲🇽
มาสคอตฟุตบอลโลกตัวที่ 2 ของเม็กซิโก พริกจาลาปิโนที่โด่งดัง ถูกออกแบบให้มีหนวดเหมือนคน และสวมหมวกปีกกว้างขนาดใหญ่เพื่อสอดแทรกวัฒนธรรมผ่านตัวมาสคอต
1990 – Ciao 🇮🇹
สร้างความแปลกใหม่ แตกต่างจากคนอื่นด้วยมาสคอตที่รูปร่างคล้ายคนที่เกิดจากการประกอบของรูปทรงสี่เหลี่ยม และชื่อที่หมายความว่า “สวัสดี” “ลาก่อน” ในภาษาอิตาลี
1994 – Striker 🇺🇸
น้องหมาน้อยตัวแทนของสหรัฐอเมริกา สัตว์เลี้ยงประจำบ้านในลุคที่เป็นมิตร มาพร้อมกับชุดสีแดง ขาว น้ำเงินตามสีธงประจำชาติ
1998 – Footix 🇫🇷
องค์ประกอบที่โดดเด่นคล้ายกับสีธงชาติของฝรั่งเศส เจ้าไก่นำโชคที่ยืนชี้นิ้ว ถือลูกฟุตบอลอยู่ ซึ่งลูกฟุตบอลถูกนำไปใช้จริงในการเตะปีนั้น
2002 – Ato , Kaz , Nik 🇯🇵🇰🇷
มาสคอตร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ประกอบไปด้วย 3 ตัวสื่อถึงตัวแทนทีมฟุตบอลขนาดย่อม โค้ช Ato สีเหลือง นักเตะ Kaz สีม่วง และนักเตะ Nik สีน้ำเงิน
2006 – Goleo VI 🇩🇪
มาสคอตสิงโตสวมเสื้อเดียวกับนักฟุตบอลทีมชาติจากประเทศเยอรมนี มากับ Pille ฟุตบอลพูดได้ ซึ่งปีนี้ถูกเป็นกระแสวิพากย์วิจารณ์ถึงสิงโตตัวนี้ไม่ยอมใส่กางเกง
2010 – Zakumi 🇿🇦
มาสคอตเสือดาวสีเขียวเหลืองฉูดฉาดที่ถูกออกแบบมาให้อิงกับสีธงชาติ โดยชื่อตัวนี้มาจากรหัสประเทศ ZA และ kumi ที่แปลว่า 10 นั่นเอง
2014 – Fuleco 🇧🇷
มาสคอตตัวนิ่มซึ่งพบได้เฉพาะที่บราซิล กับผิวสีฟ้าสื่อถึงความปลอดโปร่ง และแหล่งน้ำ โดยชื่ออิงมาจากการผสม futebol และ ecologia เพื่อให้คนสนใจสิ่งแวดล้อมพอๆ กับฟุตบอลโลก
2018 – Zabivaka 🇷🇺
มาสคอตหมาป่าจากแดนหมีขาวประเทศรัสเซีย ที่ชื่อมีความหมายว่า “ผู้ทำประตู” สัญลักษณ์นำโชคที่ยอดนิยมด้วยแว่นตาหิมะสีส้ม
2022 – La’eeb 🇶🇦
มาสคอตลักษณะผ้าสีขาว เหมือนชุดประจำชาติกาตาร์ ให้คาแรคเตอร์เป็นเด็กผู้ชาย สดใส สนุกสนาน รักการผจญภัย พร้อมชื่อที่มาจากภาษาอารบิก แปลว่า “ผู้เล่นที่เก่งกาจมีทักษะยอดเยี่ยม”
โดย La’eeb ยังเป็นมาสคอตในมิติคู่ขนาน “มาสคอตเวิร์ส” พร้อมเล่าถึงการเดินทางมาจากจักรวาลของมาสคอตในสถานที่เดียวกับรุ่นพี่มาสคอตฟุตบอลโลกปีที่ผ่านๆ มาอาศัยอยู่ รวมถึงกระตุ้นให้ทุกคนเชื่อมั่นในตนเองกับคอนเซ็ปต์ ‘Now is All’ หรือ ‘ชั่วขณะนี้คือทุกสิ่ง’ กับการนำความสุขของฟุตบอลมาสู่ทุกคน
เราจะเห็นได้เลยว่าตลอดที่ผ่านมา มาสคอตแต่ละประเทศก็จะมีความน่ารัก และซิกเนเจอร์ที่แตกต่างกัน เป็นที่น่าติดตามเลยว่าฟุตบอลโลกครั้งถัดไปในปี 2026 ที่มีเจ้าภาพถึง 3 ประเทศด้วยกันครั้งแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก จะมีมาสคอตหน้าตาเป็นอย่างไร