เมื่อพูดถึงการ์ตูนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น นอกจากเหล่านินจา ซามูไร เหล่าแม่ทัพในยุคเซ็นโงคุ และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มากมายแล้ว ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ “สงครามโลกครั้งที่ 2” ความพ่ายแพ้และสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำให้พวกเขาเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ คนญี่ปุ่นไม่เคยลืมบาดแผลครั้งนั้นของตัวเองได้แม้แต่วินาทีเดียว เห็นได้จากการสะท้อนเรื่องราวในสมัยนั้นออกมาผ่านละคร ภาพยนตร์ จนถึงการ์ตูนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากมาย ที่ยังคงถูกผลิตออกมาเพื่อเตือนใจพวกเขา และพวกเราชาวโลกเองอยู่ทุกๆ ปี มีเรื่องอะไรบ้างที่ห้ามพลาด มาดู In this corner of the world (2016) ภาพยนตร์อนิเมะเกี่ยวกับสงครามเรื่องล่าสุด พึ่งเข้าฉายช่วงปลายปีที่แล้ว แต่สามารถทำเงินได้แล้วเกินพันล้าน ได้รับรางวัลสันติภาพฮิโรชิม่า และยังประสบความสำเร็จในการระดมทุนไปฉายในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วย ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1930 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านชีวิตของหญิงสาวนามว่า โฮโจ ซึสึ ซึ่่งแต่งงานและย้ายตามสามีไปอยู่ที่ฮิโรชิม่า เมืองซึ่ง.. เรารู้กันว่าจะถูกทำลายเพราะระเบิดปรมาณูในเวลาต่อมา สำหรับชาวไทย เราจะได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้กันแน่นอนในโรงภาพยนตร์วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ฉะนั้นจะพลาดไม่ได้ Joker Game (2016) เรื่องนี้เป็นช่วงก่อนที่สงครามจะปะทุ ญี่ปุ่นจัดตั้งองค์กรสายลับขึ้นและส่งมือดีที่ผ่านการฝึกหฤโหดเพื่อแฝงตัวเข้าไปตามประเทศต่างๆ เพื่อสืบข่าวและปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยในแต่ละตอนก็จะเล่าถึงสายลับแต่ละคนที่ถูกส่งไปประจำแต่ละประเทศ ทำให้เราได้เห็นสภาพสังคม ความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศในยุคนั้น และความตึงเครียดที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าร่วมสงครามโลก ถึงจะดูนอกกระแสและไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่อนิเมะเรื่องนี้ก็มีแฟนๆ ชาวไทยโหวตให้เป็นอนิเมะทรงคุณค่าแห่งปี 2016 สาขาประวัติศาสตร์ในเว็บไซต์ anitime ด้วยนะ อ่านรีวิวเพิ่มเติม [anime] Joker Game เกมสายลับ : อนิเมะสายลับยุคสงครามโลกสุดมัน The Wind Rises ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก (2014) ภาพยนตร์อนิเมะที่สร้างอิงชีวิตจริงของ ดร.โฮริโคชิ จิโร่ หัวหน้าวิศวกรผู้ออกแบบเครื่องบินรบของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก โดยเฉพาะเครื่องซีโร่ที่โด่งดัง เขาหลงใหลในการบินและท้องฟ้ามาตั้งแต่ยังเด็ก และใช้มันผลักดันตัวเองมาถึงจุดนี้ ทว่าเครื่องบินซึ่งเขาออกแบบกลับถูกนำไปใช้ในการทำสงครามเข่นฆ่าผู้คน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจ ไม่ใช่เพียงแค่ภาพยนตร์จะสะท้อนความหลงใหลในเครื่องบินของดร.จิโร่ แต่เป็นของมิยาซากิ ฮายาโอะ ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิด้วย เขาจึงเลือกที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนที่จะประกาศเกษียณตัวเอง ทำให้นี่อาจจะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขาก็ว่าได้ Graves of the Fireflies สุสานหิ่งห้อย (1988) อนิเมะอีกเรื่องของจิบลิที่พูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เลือกเล่าในมุมมองที่เป็นโศกนาฏกรรม โดยสร้างจากเรื่องจริงของ โนซากะ อะกิยูกิ นักเขียนซึ่งสูญเสียน้องสาวของตัวเองไปเพราะการขาดสารอาหารในช่วงสงคราม ซึ่งเล่าผ่านตัวละครสองพี่น้องที่ต้องเผชิญความทุกข์เข็ญในช่วงสงคราม เพราะต้องการรักษาอารมณ์ของตัวบทประพันธ์ไว้ให้ได้มากที่สุด ผู้กำกับทาคาฮาตะ อิซาโอะ จึงพยายามตัดทอนรายละเอียดต่างๆ ลงให้น้อยที่สุด จึงได้ออกมาเป็นแอนิเมชันที่โสกเศร้าหดหู่จนหลายคนออกปากว่าขอไม่ดูอีกเป็นหนที่สอง คงจะดีถ้าไม่มีสงครามแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งด้วย Barefoot Gen เก็น เจ้าหนูสู้ชีวิต (1983) แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่พูดถึงการ์ตูนเรื่องนี้ เพราะมันเล่าเรื่องราวของ เก็น เด็กหนุ่มอายุ 6 ขวบ และครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ที่ฮิโรชิม่าในวันที่ระเบิดปรมาณูตกลงมา โดยเล่าตั้งแต่เรื่องราวก่อนหน้า และเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทำให้เราได้เห็นภาพความทรมานของผู้คนจากสงครามครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน ผลงานชิ้นนี้เขียนขึ้นด้วยความรู้สึกคับแค้นของผู้เขียนซึ่งสูญเสียมารดาไปในเหตุการณ์เดียวกัน จึงไม่ได้เพียงแค่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ตั้งคำถามกับทุกคนด้วยว่าเราจะทำสงครามกันไปทำไม Hetalia : Axis Power พลังอักษะ เฮตาเลีย (2008) มาดูการ์ตูนแนวเบาสมองกันบ้าง เรื่องนี้จับเอาประเทศต่างๆ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 40 ประเทศ มาแปลงเป็นตัวละครหน้าตาน่ารักๆ โดยแต่ละตัวก็จะมีทั้งประวัติ และบุคลิกลักษณะที่ตรงตามประเทศนั้นจริงๆ ใครเป็นเพื่อนใคร ใครไม่ถูกกับใคร ประเทศไหนนิสัยแบบไหน ก็สื่อกันผ่านตัวละครออกมาแบบตลกๆ น่ารักๆ แต่ก็แอบตรงตามประวัติศาสตร์อย่างเถียงไม่ออกเลยทีเดียว เห็นเบาสมองแบบนี้ แต่เฮตาเลียก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 การ์ตูนเพื่อการเรียนรู้โดยมูลนิธินิปปอนฟาวเดชัน สาขาประวัติศาสตร์นะจ๊ะ มีทั้งฉบับมังงะและอนิเมะ เลือกเสพได้ตามอัธยาศัยเลย Who’s Left Behind? – Kayako Diary (1991) ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ Ushiro no Shoumen Dare เป็นเนื้อเพลงที่เด็กๆ ร้องในการละเล่น แปลว่ายังเหลือใครอยู่ข้างหลังนะ เป็นประโยคที่ตีความหมายได้หลากหลาย อนิเมะเรื่องนี้สร้างจากชีวิตจริงของ เอบินะ คายาโกะ นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสีในภาพยนตร์โดราเอมอนและชินจังหลากหลายภาค เนื้อเรื่องเป็นการบันทึกชีวิตในวัยเด็กของเธอ ในปี 1940 ซึ่งเธอเป็นเพียงเด็กขี้แยชั้นป.1 แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามไม่ต่างจากทุกคนในสมัยนั้น เรื่องได้ว่าความสดใสของคายาโกะในเรื่อง ทำให้เรารู้สึกเคียดแค้นสงครามที่ทำกับเด็กอย่างเธอได้ไปเลย Giovanni’s Island (2014) ถ้าพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนก็จะนึกถึงฮิโรชิม่า นางาซากิ แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพ้สงครามครั้งนั้นอย่างใหญ่หลวงอยู่ด้วย Giovanni’s Island คือภาพยนตร์อนิเมะที่อ้างอิงเหตุการณ์นั้น ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวบนเกาะเล็กๆ ชื่อชิโกตัน ในหมู่เกาะคูริล ซึ่งเป็นข้อพิพาทแย่งดินแดนระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียมานานนับศตวรรษ (เสิร์ช “ข้อพิพาทหมู่เกาะคูริล” อ่าน) ในปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียก็ยึดเกาะนี้กลับคืนมาเป็นของตัวเอง ท่ามกลางกระแสสงครามและการเมืองที่ดุเดือด มิตรภาพของเด็กสองชนชาติก็ก่อตัวขึ้น เป็นหนึ่งในภาพยนตร์อนิเมะที่ห้ามพลาดเด็ดขาดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว RAINBOW 7 นช. แดน 2 ห้อง 6 (2010) แม้เรื่องนี้จะไม่ได้เกี่ยวพันโดยตรงกับสงคราม แต่ก็ทำให้เราได้เห็นสภาพบ้านเมืองญี่ปุ่นในช่วงปีโชวะที่ 30 หรือราว 10 ปีหลังสงครามจบลง ซึ่งผู้คนยังคงอดอยาก มีการปล้นชิงวิ่งราวกันไปทั่ว เด็กวัยรุ่น 7 คนถูกจับเข้าคุกสถานพินิจเยาวชนที่เดียวกัน ได้รู้จักและเป็นเพื่อนกัน แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งและทารุณกรรมจากเหล่าผู้คุมตลอด ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ต้องทนเพื่อที่จะออกไปทำตามความฝันให้ได้ เรียกได้ว่าเป็น Shawshank Redemption ฉบับอนิเมะก็ว่าได้ แต่บทสรุปและอารมณ์ต่างๆ ในการเล่าเรื่องนั้นต่างกันมากทีเดียว Zipang (2005) ปิดท้ายด้วยอนิเมะที่ตั้งคำถามตรงๆ กับชาวญี่ปุ่นเลยว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะกลับไปแก้ไขมันไหม” เมื่อเรือรบญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันชื่อ มิไร (อนาคต) ได้พบพายุประหลาดลูกหนึ่งและถูกดูดกลับมาโผล่ในปี 1942 หรือ 3 ปีก่อนญี่ปุ่นจะพ่ายสงครามอย่างอัปยศ เหล่าลูกเรือจึงต้องตัดสินใจว่า พวกเขาซึ่งทั้งรู้เรื่องสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และมีอาวุธรบล้ำสมัยอยู่ในมือ จะยื่นมือเข้าไปช่วยญี่ปุ่นให้ชนะสงคราม แล้วเปลี่ยนประวัติศาสตร์อันเลวร้ายนั้นเสีย หรือจะยืนดูคนนับล้านตายไปต่อหน้าต่อตาเหมือนเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกระหายชัยชนะและความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นในครั้งนั้นคือหนึ่งในเชื้อไฟสำคัญของสงคราม หากญี่ปุ่นไม่พ่ายแพ้ สงครามก็อาจจะเรื้อรังยาวนานจนทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่าเดิม หรือลุกลามใหญ่โตกว่านี้ก็เป็นได้ หากวันนั้นพวกเขาไม่พ่ายแพ้ ก็ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ กว่าพวกเขาจะได้เข้าใจความโหดร้ายของสงคราม และความสำคัญของสันติภาพ เช่นเดียวกับที่เราได้เข้าใจในวันนี้