‘คู่สนทนาที่ดี’ เป็นอย่างไร? นิยามของเราอาจต่างกันไป แต่สำหรับผู้เขียนแล้วคู่สนทนาที่ดีคือ คู่ที่เราสนทนาด้วยแล้วเกิดความรู้สึกดีๆ ไม่มีความตะขิดตะขวงใจ หรือสร้างความรู้สึกที่แย่ตามมาหลังจบการสนทนา ในยุคนี้ที่แค่การคุยเรื่องดินฟ้าอากาศก็อาจสร้างความเบาะแว้งแล้ว เราจะทำยังไงให้บทสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่นและลงเอยด้วยความรู้สึกดีๆ ทั้งสองฝ่าย? มีคลิปจาก TED ตอนหนึ่ง ชื่อว่า 10 ways to have a better conversation ของ เซเลสท์ เฮดลี (Celeste Headlee) เธอเป็นนักจัดรายการวิทยุมาหลายสิบปี ทำให้เธอรู้ว่าบทสนทนาที่ดีมีองค์ประกอบอะไรบ้างเลยได้มาแชร์เทคนิคให้พวกเราฟัง ผู้เขียนจึงอยากนำมาบอกต่อให้วิธีการดีๆ นี้กระจายไปกว้างขึ้น กฎง่าย ๆ 10 ข้อที่จะทำให้บทสนทนาดียิ่งขึ้น 1. อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน ทำหลายอย่างพร้อมกันในที่นี่ไม่ได้หมายความแค่ว่า อย่าถือของตอนคุยกัน กินน้ำระหว่างบทสนทนา หรือว่าวางแท็บเล็ต, กุญแจรถ อะไรแบบนั้นนะ แต่หมายถึงให้เราอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งคิดเรื่องอื่นตอนคุยกัน เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นการคุยแบบครึ่งๆ กลางๆ 2. อย่าวิจารณ์ ในการสนทนาถ้าเราตั้งแง่เอาไว้ก่อนแล้วว่าจะไม่ยอมรับฟังความเห็นคนอื่นหรือจะยึดอยู่แต่กับความเชื่อของตัวเอง..เราจะไม่ได้อะไรจากการสนทนาเลย กลับกันเราต้องนึกเอาไว้เสมอว่าการสนทนาจะสร้างให้เราเกิดการเรียนรู้อะไรบางอย่าง เพราะคนแต่ละคนเชี่ยวชาญในเรื่องต่างกัน เราอาจได้มุมบางอย่างจากคนนั้น และได้รับรู้เรื่องใหม่ๆ จากคนนี้ ถ้าเราจ้องแต่จะวิจารณ์และขัดบทสนทนา เราก็จะไม่ได้รับการเรียนรู้ที่เราควรจะได้เลย 3. ใช้คำถามปลายเปิด คำถามที่ปลายปิดเกินไปบางครั้งก็ทำให้บทสนทนาจบอยู่ตรงนั้น เราอาจต่อยอดคำถามด้วยการใช้คำขึ้นต้นอย่าง ใคร, อะไร, เมื่อไหร่, ที่ไหน, ทำไม หรือ อย่างไร เข้ามาช่วยให้บทสนทนาลื่นไหลและไปต่อได้ อย่างเช่นถ้าเราถามเพื่อนว่า ‘รู้สึกหวาดกลัวอยู่หรอ’ เขาคงตอบว่า ‘ใช่ ฉันกลัว’ แต่ถ้าเราถามลึกไปกว่านั้นว่าคุณกลัวอะไร ทำไมคุณถึงกลัว เพื่อนคนนั้นก็อาจจะได้เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมมากขึ้น 4. ไหลตามน้ำไป บางครั้งก่อนการสนทนาหรือระหว่างสนทนาเรามักจะมีคำถามแว้บเข้ามาในหัว ทำให้เราจดจ่ออยู่กับคำถามที่อยากถามนั้นและลืมโฟกัสบทสนทนาตรงหน้า บางครั้งคู่ที่เราคุยด้วยอาจกำลังเล่าเรื่องหนึ่งอยู่แต่เรากลับถามแทรกเป็นอีกเรื่อง ก็จะดูงงๆ อยู่ ว่าเอ๊ะคุณได้ฟังที่ฉันพูดมะกี้รึเปล่านี่ เพราะงั้นลองใหม่ ลองตั้งใจฟังสิ่งที่เขากำลังพูดแล้วค่อยๆ คิดคำถามต่อยอดไปจากเดิมอาจจะเวิร์คกว่า 😀 5. ถ้าไม่รู้ให้บอกไม่รู้ บางครั้งเราอยากแสดงความรอบรู้ให้คู่สนทนาเห็น อาจโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่สิ่งที่ตามมาหากเราอวดอ้างบางเรื่องที่เราไม่รู้จริง เมื่อบทสนทนาดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเจ๊งแน่นอน เพราะงั้นถ้าเรื่องที่ไม่รู้ก็ให้บอกว่าไม่รู้ไปเลย มันก็เป็นการต่อยอดบทสนทนาได้เช่นกัน คู่สนทนาของเราอาจอธิบายให้เราเข้าใจในเรื่องนั้นๆ หรืออย่างมากก็แค่เปลี่ยนเรื่องคุย แค่นั้นเอง 6. อย่าเทียบประสบการณ์ของเรากับเขา ถ้าย้อนกลับไปมองตัวเองจะพบว่าหลายคร้ังเวลามีเพื่อนมาระบายขอคำปรึกษาในเรื่องบางเรื่อง บทสนทนานั้นกลับจบด้วยการที่เราเป็นฝ่ายระบายแทน เพื่อนอาจเริ่มมาว่า ‘เนี่ยแก ฉันเครียดมาก เพื่อนร่วมงานไม่ดีเลย’ แต่เรากลับตอบไปว่า ‘ใช่ เหมือนกัน นี่นะของฉันเป็นอย่างนี้ๆๆ’ กลายเป็นว่าเราขโมยบทสนทนานั้นไปเฉยเลย และยิ่งกว่านั้นบางครั้งเราก็ไปเทียบประสบการณ์กับเขา เราเผลอคิดไปว่าเขากำลังเผชิญสิ่งเดียวกับที่เราเจอ แต่จริงๆ แล้วเหตุการณ์ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันและไม่มีวันเหมือนด้วย 7. อย่าพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การพูดทวนคำตัวเองซ้ำๆ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ อาจทำให้เราดูเป็นคนอวดดีและสร้างความอารมณ์เสียได้ เราต้องสำรวจตัวเองและอย่าทำแบบนั้น 8. อยู่ให้ห่างจากเรื่องยิบย่อย บางครั้งเราโฟกัสที่ดีเทลมากไปหน่อย ทั้งๆ ที่คู่สนทนาเราไม่ได้อยากจะรู้หรอกว่าเหตุการณ์นั้นเกิดเวลากี่โมงกี่นาที หรือตอนนั้นแดดร้อนหรือลมแรง เราควรทิ้งรายละเอียดบางอย่างไปบ้างเพื่อให้เหลือเนื้อๆ ที่คู่สนทนาเราสนใจ 9. รับฟัง ข้อที่สำคัญที่สุดของการสนทนาที่ดี ก็คือการรับฟังนั่นแหละ เพราะการสนทนาที่ดีไม่ใช่ว่าเป็นผู้พูดที่ดีแต่รวมถึงการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย เพราะถ้าคุณเป็นคู่สนทนาที่ไม่ได้ฟังคู่ตรงข้ามเลยก็เหมือนเราไม่ได้อยู่ในบทสนทนานั้น ถ้าอยากพูดโดยไม่ได้อยากฟังใครเลยก็จะน่าเสียดายเหมือนกัน ลองค่อยๆ ฝึกสมาธิ รับฟังคู่สนทนาให้มากขึ้นกันดูเนอะ 🙂 10. พูดให้สั้นเข้าไว้ มาถึงข้อนี้ เซเลสท์ เฮดลี (Celeste Headlee) ได้ฉายสไลด์ขึ้นจอ โดยข้อความบนนั้นเขียนว่า “A good conversation is like a miniskirt; short enough to retain interest, but long enough to cover the subject. – My Sister” (การสนทนาที่ดี ก็เหมือนกับกระโปรงสั้น ต้องสั้นพอที่จะดึงดูดความสนใจ แต่ก็ยาวพอที่จะครอบคลุมจุดสำคัญ – พี่สาวของฉัน) ลองนำ 10 วิธีนี้ไปใช้กันดู อาจเริ่มจากใช้แค่ห้าหกข้อ แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็นสิบข้อดูก็ได้ แล้วมาเปรียบเทียบกันดูว่าเราได้สร้างบทสนทนาที่ดีขึ้นไหม และการสนทนาที่เราและคนอื่นอยากได้รับ..เป็นแบบไหนกัน?