หลายครั้งที่เราแชร์ข้อมูลบนโลกโซเชียลกันแบบไม่เช็กความถูกต้องก่อน ซึ่งบางเรื่องนั้นอาจมีผลทำให้ชีวิตใครคนหนึ่งต้องพังลงไปเลยเพราะความสะเพร่าของเราชาวเน็ต มาย้อนดูกันว่าที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันแชร์อะไรแบบผิดๆ ไปแล้วบ้าง และขอให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์ที่จะทำให้เราใส่ใจกับการตรวจข้อมูลให้มากกว่าเดิม 1. คิดว่าเป็นโรคจิต – ที่แท้แค่รองเท้าขาด ข่าวที่คนแชร์ : เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2557 มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เผยแพร่ภาพของนายจิรวุฒิ ลิมปนาทไพศาล โดยมีข้อความระบุว่า “ไม่รู้ว่าพี่เขาเป็นใคร แต่พี่เขาไฮเทค มีกล้องตัวจิ๋วที่ปลายรองเท้าด้านซ้ายด้วยอะ กระโปรงสั้นก็ระวังกันหน่อยนะสาวๆ @ BTS Onnut” ส่งผลให้ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง โลกออนไลน์ประณามนายจิรวุฒิว่าเป็นโรคจิต ทำให้เขาและครอบครัวตกใจและเครียดมาก ความเป็นจริง : นายจิรวุฒิชี้แจงว่า เหตุผลที่รองเท้าของเขาขาดเพราะไปช่วยซ่อมแอร์ ความร้อนจากการเผาเชื่อมทำให้รองเท้าขาดเป็นรูโดยไม่รู้ตัว เขายืนยันว่าไม่ได้ติดกล้องที่รองเท้าตามที่โพสต์เขียนไว้ ผลกระทบ : ชีวิตของนายจิรวุฒิเหมือนกับพังลงเพราะสื่อโซเชียล ทำให้เขาเกลียดสังคมไปเลยในช่วงนั้น ไม่อยากเข้าใกล้คน และทำให้คนใกล้ชิดในครอบครัวต้องเครียดและเป็นห่วงไปด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : www.youtube.com 2. โซดามะนาวรักษามะเร็ง – แชร์ไปทั่วไม่มีงานวิจัยรองรับ ข่าวที่คนแชร์ : โซดาผสมมะนาว มีฤทธิ์ทางยาสามารถรักษามะเร็งได้ ! ความเป็นจริง : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่มีหลักฐานว่าโซดามะนาวรักษาโรคมะเร็งได้ งานวิจัยต่างชาติที่คนแชร์กันก็ไม่มีจริง นอกจากนี้มะนาวยังมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งหากทานทุกวันอย่างที่หลายคนเชื่อกัน อาจระคายได้ และยิ่งไปกว่านั้นหากทานตอนท้องว่างอาจกัดกระเพาะ รวมถึงทำให้ฟันสึกกร่อนได้อีกด้วย ผลกระทบ : การแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารรักษามะเร็ง อาจไม่ได้ช่วยชีวิตคนที่ป่วยโรคนี้ เพราะถ้าแชร์โดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อาจเป็นการทำให้ผู้ป่วยที่มีโอกาสไปรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน เสียโอกาสได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : ostatic.tnamcot.com 3.โอโตยะมีพยาธิ – ตรวจแล็บแล้วเป็นแค่เส้นเลือดหมู ข่าวที่คนแชร์ : มีลูกค้าได้ร้องเรียนว่าได้เข้ารับประทานอาหารที่ร้านอาหารญี่ปุ่น Ootoya สาขาเดอะมอลล์ บางแค เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2558 แล้วพบสิ่งผิดปกติในเนื้อหมูที่มีลักษณะคล้ายพยาธิ จนเกิดการแชร์ไปทั่วในโซเชียลมีเดีย ความเป็นจริง : อำไพพรรณ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แบรนด์ โอโตยะ ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันด้วยผลการตรวจสอบจากห้องแล็บ ว่าไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่เห็นกันในภาพนั้น เป็นเพียงเส้นเลือดที่สามารถพบได้ในเนื้อหมูสันนอก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผลกระทบ : มีการแชร์ข่าวนี้ไปทั่วโซเชียล จนหลายคนกลัวที่จะไปกินร้าน Ootoya ทางแบรนด์เสียหายทั้งในแง่ของยอดขาย และชื่อเสียง นอกจากนี้จนถึงวันนี้ก็อาจยังมีคนไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วสิ่งแปลกปลอมนั้นไม่ใช่พยาธิ ! ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th 4. เปิดร้านแข่งรายเล็ก – จริงๆ เจ้าของเดียวกันทั้ง 2 สาขา ข่าวที่คนแชร์ : มีการแชร์ภาพร้าน 7-11 สาขาหาดใหญ่ ที่เปิดติดกัน 2 สาขา และมีความคิดเห็นจากชาวเน็ตท่านหนึ่งว่า “CP ตั้งใจเปิดร้านของตัวเองข้างๆ ร้านแฟรนไชส์ เป็นการเอาเปรียบคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไป” ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ และเห็นด้วยเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ความเป็นจริง : จริงๆ แล้ว ทั้ง 2 สาขา มีเจ้าของร้านคนเดียวกัน คือ คุณกรขนก และ คุณปิยวัฒน์ นภาธร ซึ่งเหตุผลที่เปิด 2 สาขาติดกัน เป็นเพราะทีแรกเปิดสาขาร้านทางด้านขวาก่อน แต่ร้านเล็กและลูกค้าเยอะมาก ทำให้บริการไม่ทันเลยต้องเช่าอีกตึกเพื่อเปิดสาขาติดกัน ผลกระทบ : แบรนด์ CP ดูแย่ในสายตาใครหลายๆ คน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ CP ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ขอบคุณข้อมูลจาก : iuvclub.com www.facebook.com/711FanClubTH 5. แท็กซี่มอมยาผู้โดยสาร – ใช่ที่ไหนแค่เมาคาร์บอนมอนอกไซด์ ข่าวที่คนแชร์ : “รถแท็กซี่ สีชมพู หมายเลขทะเบียน ทค-6620 หรือ ทศ-6620 จังหวัดกรุงเทพ ผู้ขับขี่เป็นชายอายุประมาณ 35-36 ปี รูปร่างผอมเล็ก ผิวดำแดง มีหนวด ก่อเหตุ…มอมยาผู้โดยสาร” ความเป็นจริง : แพทย์ (หมอแมว) และเพจดัง Drama-addict ได้ให้ความเห็นว่า ถ้าแท็กซี่จะใช้ยาสลบ ต้องใส่หน้ากากกันสารพิษ ไม่งั้นก็คงสลบกันทั้งคัน ส่วนอาการมึนของผู้โดยสาร เป็นผลจากคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ หรือการเมารถ เมากลิ่นอาหาร หรือเพราะนอนไม่พอก็เป็นได้ ผลกระทบ : จากการแชร์ข้อมูลเรื่องแท็กซี่แบบผิดๆ ทำให้ส่งผลต่ออาชีพคนขับแท็กซี่ เพราะนอกจากจะดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้รายได้ลดน้อยลงด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : news.tlcthai.com Drama-addict topicstock.pantip.com 6. อั้นตดทำให้เป็นกรดไหลย้อน – ใช่ที่ไหนกัน ข้อมูลอ้างอิงก็ไม่มีบอก ข่าวที่คนแชร์ : เพจดังได้ทำภาพแชร์ อ้างว่า “แพทย์ยืนยัน การอั้นตด ทำให้เป็นกรดไหลย้อน” โดยมีการระบุว่า เป็นข้อมูลจากสถาบันคาเซะโนะไดโช ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการพบข้อมูลใหม่ถึงอีกสาเหตุสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ นั่นคือการอั้นตด จนหลายคนพากันตกใจ ความเป็นจริง : วันที่ 5 มีนาคม 2560 อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงว่าการอั้นตด ไม่ได้ทำให้เป็นกรดไหลย้อน และยังได้ตั้งคำถามว่าคนที่แชร์และกดไลค์จำนวนมาก น่าจะสะดุดใจกันหน่อย เพราะว่าเนื้อหาไม่มีเอกสารอ้างอิงใดๆ เลย ผลกระทบ : มีคนแชร์เนื้อหานี้กว่าสองพัน และคนกดไลค์กว่าสามหมื่น ซึ่งอาจทำให้มีคนที่เชื่อและเข้าใจผิดได้จริงๆ ขอบคุณข้อมูลจาก : hilight.kapook.com 7. Facebook แจ้งเตือนระเบิดในไทย – แท้จริงเป็นข่าวเก่าปี 2015 เรื่องที่เกิดขึ้น : เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 มีการแจ้งเตือนการเกิดระเบิดในกรุงเทพมหานคร และ Facebook ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไป Safe Check แจ้งได้ว่าเราปลอดภัยหรือเปล่า มีหลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น รีบเปิดทีวีดูข่าว เช็กกันให้ทั่วเน็ต ความเป็นจริง : จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากบางสำนักได้เอาข่าวเก่าเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ มาเขียนใหม่อีกครั้ง Facebook จึงลงระบบ Safe Check ขึ้นมา เป็นการแจ้งเตือนผิดพลาดของระบบ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ และก็มีการแก้ไขระบบภายหลัง ผลกระทบ : สร้างความสับสนแก่ผู้ที่พบเห็นข่าว ซึ่งสำนักข่าวไม่ควรนำข่าวเก่ามาเขียนจนเกิดความเข้าใจผิดให้แก่คนอ่าน ขอบคุณข้อมูลจาก : www.mangozero.com 8. เก็บของคนอื่นแล้วผลิตมาขายแข่งเอง – นมอัดเม็ดจิตรลดาของขาดตลาด ข่าวที่คนแชร์ : ชาวเน็ตต่อว่า CP ที่นำนมอัดเม็ดยี่ห้อ 7-select มาขายในร้าน 7-Eleven ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเหตุให้ต้องถอดนมอัดเม็ดจิตรลดาออกจากร้านไปด้วย ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจแก่ผู้ที่ชื่นชอบนมอัดเม็ดจิตรลดา ความเป็นจริง : “นมอัดเม็ดจิตรลดาได้รับความนิยมและขายดีมาก ทำให้บางครั้งสินค้าไม่มีจำหน่ายในบางสาขา เพราะกำลังผลิตของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีจำนวนจำกัด (227,000 ซองต่อสัปดาห์) และจะไม่ขยายกำลังผลิตเพิ่ม เนื่องจากตั้งใจให้เป็นโครงการตัวอย่างให้ประชาชนนำไปขยายผลทำต่อ เซเว่นไม่เคยถอดสินค้านี้ออกจากร้าน ! ด้วยเหตุนี้ 7-Eleven จึงได้สรรหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำการผลิตนมอัดเม็ดขึ้นมาเสริม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากดังกล่าว ซึ่งก็ไม่สามารถทดแทนได้ และทุกวันนี้ 7-Eleven ก็ยังคงร้องขอเพิ่มปริมาณผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดจิตรลดา และพร้อมจะรับมาจำหน่ายที่ร้าน” ผลกระทบ : แบรนด์ CP ดูแย่ รวมถึงคนเข้าใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตนมอัดเม็ด 7-selected แบบผิดๆ ขอบคุณข้อมูลจาก : hilight.kapook.com 9. ไข่ปลอมระบาดแล้วในไทย – หมอบอกของจริง.. ไม่ปลอมนะจ้า ข่าวที่คนแชร์ : มีการแชร์คลิปวิดีโอลงในโลกโซเชียลพร้อมข้อความเตือนภัยอ้างว่า “ไข่ไก่ปลอมระบาดอยู่แถวอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กินไม่ได้ทั้งแผง สาเหตุปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน” ความเป็นจริง : อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า ไข่ไก่ในคลิปนี้ไม่ใช่ไข่ปลอม แต่เป็นไข่สดคุณภาพดี และยังได้แนะนำวิธีพิสูจน์ไข่ว่าปลอมหรือไม่ โดยให้สังเกตขณะรับประทาน หากเคี้ยวแล้วไม่ละลายในปาก แสดงว่าไข่นั้นทำมาจากพลาสติก ผลกระทบ : ผู้คนที่เห็นโพสต์นี้ต่างแตกตื่น เข้ามาถามไถ่และแชร์ต่อไปจำนวนมาก มีทั้งถามพิกัดของร้านที่ขาย บางส่วนก็อยากให้นำไข่ไก่ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบ ทำให้กระทบผู้ขายไข่จำนวนมาก ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th 10. ชาร์จ iPhone ข้ามคืนแบตเสื่อมเร็ว – แบตเตอรี่ iPhone ฉลาดกว่าที่คิด ข่าวที่คนแชร์ : มีความเชื่อกันว่า การชาร์จแบตเตอรี่มือถือ iPhone ข้ามคืน จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว ความเป็นจริง : การชาร์จ iPhone ข้ามคืน ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว เป็นเรื่องเท็จ เพราะ iPhone สามารถชาร์จได้ประมาณ 500 รอบ (Cycle) ก่อนที่แบตจะเริ่มเสื่อม (จาก 100% เป็น 80% โดยประมาณ) โดยมีวิธีการนับ Cycle คือ “นับตามจำนวนใช้จริงโดย 1 Cycle เท่ากับ 100% และการชาร์จสมาร์ทโฟนข้ามคืนนั้นไม่ส่งผลเสียกับเครื่องและแบตเตอรี่ของตัวเครื่อง เพราะเมื่อตัวเครื่องรู้ว่าแบตเตอรี่เต็มแล้ว มันจะตัดไฟเข้าแบตเตอรี่เองเพื่อป้องกันการชาร์จที่มากเกินไป (over charge) ขอบคุณข้อมูลจาก : www.macthai.com