10 เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับ "โดราเอมอน"

Writer : moomanowww

: 8 มีนาคม 2560

doraemon-fact

ตั้งแต่จำความได้ โดราเอมอนก็ไม่เคยหายออกไปจากชีวิตเราเลย ไม่ว่าเราจะเติบโตขึ้นมาแค่ไหน อาจจะเรียนมหาวิทยาลัยหรือทำงานทำการแล้ว แต่เราก็ยังคงคิดถึงเจ้าแมวอ้วนที่มาพร้อมกับไทม์แมชชีน คอปเตอร์ไม้ไผ่ ประตูไปที่ไหนก็ได้ หรือแม้แต่ “ขนมปังช่วยจำ” สักแผ่นมาไว้ใช้ตอนอ่านหนังสือสอบอยู่เสมอ

โตมาด้วยกันขนาดนี้ มีเรื่องอะไรที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับโดราเอมอนอีกบ้างนะ?

 

1. โดราเอมอนทุกเล่มมาวางเรียงกัน จะพันรอบโลกได้ 3 รอบ

doraemon-fact-world

20 ปีหลังจากที่รวมเล่มแรกของโดราเอมอนวางจำหน่ายในปี 1974 ยอดตีพิมพ์ของโดราเอมอน นับแค่เฉพาะฉบับรวมเล่มภาษาญี่ปุ่น ก็ได้รับการจดบันทึกสถิติว่ามีสูงถึง 750 ล้านเล่มในปี 1994 ซึ่งหากว่านำทุกเล่มมาวางเรียงต่อกันในแนวนอน ก็สามารถพันรอบโลกได้ถึง 3 รอบเลยทีเดียว

 

2. ตอนจบที่แท้จริงคืออะไร !?

doraemon-fact-true-ending

อ.ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ เคยเขียนตอนจบออกมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ถูกยอมรับว่าเป็นตอนจบที่แท้จริง ก็คือตอน “ลาก่อน โดราเอมอน” ในปี 1973 ซึ่งโดราเอมอนต้องกลับไปโลกอนาคต โนบิตะจึงออกไปท้าสู้กับไจแอนท์เพื่อให้โดราเอมอนไม่เป็นห่วง ปัจจุบันอยู่ในรวมเล่มที่ 6

หนึ่งในสาเหตุที่โดราเอมอนจบเร็วก็เพราะกระแสในช่วงแรกนั้นไม่ค่อยดี แต่ในปีต่อมาซึ่งฉบับรวมเล่มวางจำหน่าย กระแสก็กลับมาดีอีกครั้ง อ.ฟูจิโมโตะจึงกลับมาเขียนต่อ โดยให้โดราเอมอนกลับมาด้วยน้ำตาโกหก

นายทาจิมะ ยาสุเอะ เคยวาดโดจินชิ (การ์ตูนทำมือโดยนักเขียนสมัครเล่น) ตอนจบของโดราเอมอนขึ้นมา โดยโดราเอมอนต้องปิดเครื่องตลอดไป และโนบิตะตั้งใจเรียนจนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างโดราเอมอนขึ้นมา โดจินเรื่องนี้ขายได้มากกว่า 13,000 ฉบับ และถูกพูดถึงมากจนหลายคนเชื่อว่าเป็นของจริง จนทางโชกักคุคังต้องฟ้องร้องให้หยุดจำหน่ายด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2003

 

3. โดราเอมอนฉบับลับแล

doraemon-fact-1973-anime

เด็กยุคนี้เติบโตมากับอนิเมะโดราเอมอนฉบับที่ฉายมาตั้งแต่ปี 2005 ส่วนคนรุ่นเราก็คงจะคุ้นเคยกับลายเส้นฉบับปี 1979 กันมากกว่า แต่นอกจาก 2 เวอร์ชันนี้แล้ว โดราเอมอนยังเคยมีฉบับอนิเมะปี 1973 ที่ออกอากาศอยู่ได้เพียง 6 เดือนจนจบที่ตอน “ลาก่อน โดราเอมอน” ก่อนที่สถานีโทรทัศน์จะประสบปัญหาการเงินจนต้องล้มเลิกแผนทำภาคต่อ

โดราเอมอนฉบับนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างจากฉบับที่เรารู้จักกันพอสมควร เช่น โดราเอมอนมาปัจจุบันเพื่อฝึกเป็นหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์จะได้จบการศึกษา, ไจแอนท์ไม่ได้อยู่กับแม่ แต่เป็นพ่อท่าทางไม่เอาไหน แม้แต่ตัวละครอย่างคุณครูที่ไม่เคยมีชื่อ ในฉบับนี้ก็มีชื่อว่ากานาริ

ปัจจุบันเราไม่สามารถหาดูอนิเมะฉบับนี้เต็มๆ ได้แล้ว ว่ากันว่าเพราะสถานีโทรทัศน์ขายฟิล์มทิ้งไปเพื่อใช้หนี้ บ้างก็บอกว่าฟิล์มถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่านไปหมดแล้ว มีเหลืออยู่เพียงบางช่วงบางตอนเท่านั้น

 

4. ไจแอนท์กลายเป็นซูเนโอะ!?

doraemon-fact-kimotsuki-kaneta

หนึ่งในไม่กี่สิ่งที่หลงเหลือจากอนิเมะโดราเอมอนในปี 1973  คือ คิโมสึกิ คาเนตะ นักพากย์ผู้ให้เสียงไจแอนท์ในฉบับดังกล่าว กลับมารับบทพากย์เป็นซูเนโอะในฉบับอนิเมะปี 1979 แทนที่ ยาชิโระ ชุน ผู้รับบทเดิม ส่วนผู้ที่มาให้เสียงพากย์ไจแอนท์ฉบับปี 1979 คือ ทาเทคาเบะ คาซึยะ

คิโมสึกิฝากผลงานพากย์เสียงบทสำคัญไว้ในอนิเมะคลาสสิกอีกหลายเรื่อง ทั้งนินจาฮาโตริ, โอโซมัตสึคุง, รถด่วนอวกาศ 999, ปาร์แมน, ผีน้อยคิวทาโร่ ปัจจุบันทั้งสามคนเสียชีวิตลงแล้ว โดยคุณคิโมสึกิพึ่งเสียชีวิตไปด้วยวัย 80 ปี เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง

 

5. เจ้าของเสียงโดราเอมอนจำโดราเอมอนไม่ได้แล้ว

doraemon-facts-oyama-nobuyo

โอยามะ โนบุโยะ คือนักพากย์อาวุโสผู้ให้เสียงตัวการ์ตูนมากมายมาเป็นเวลานาน รวมไปถึงบทบาทสำคัญในการพากย์เสียงโดราเอมอน ตั้งแต่ปี 1979 จนถึงปี 2005 หรือกว่า 26 ปี รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ขับร้องเพลง โดราเอมอน โนะ อุตะ (อั๊งอังอั่ง โตะเต๊โมะไดสุกิ ♪) ด้วย

โอยามะประสบภาวะสมองเสื่อมมายาวนานก่อนจะเกษียณตัวเองไปในปี 2015 สามีของเธอบอกว่าในช่วงหลังเธอยังคงรับงานพากย์อยู่ได้แค่เพราะอ่านบท แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถจดจำโดราเอมอน หรือเรื่องราวสมัยที่เธอพากย์โดราเอมอนได้แล้ว

สถานีโทรทัศน์ NHK นำชีวิตของเธอมาทำเป็นละครเรื่อง Zutto Issho da yo Seiyuu Oyama Nobuya Monogatari (ด้วยกันตลอดมา เรื่องราวของนักพากย์เสียง โอยามะ โนบุโยะ) ออกอากาศปลายปี 2015

 

6. ไทม์แมชชีนนั่นฉันก็อยากใช้นะ!

doraemon-fujiko-time-machine

อุปกรณ์วิเศษชิ้นแรกที่โดราเอมอนใช้ในเรื่องก็คือ ไทม์แมชชีน อุปกรณ์ที่ทำให้เขาสามารถเดินทางข้ามกาลเวลาเวลาจากศตวรรษที่ 22 กลับมาหาโนบิตะได้ และสาเหตุที่มันเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ อ.ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ผู้เขียน กำลังอยากได้สุดๆ ในตอนนั้นยังไงล่ะ

วันหนึ่งในปี 1969 อ.ฟูจิโมโตะต้องรีบคิดพล็อตการ์ตูนเรื่องใหม่มาแทนที่ “เจ้าชายจอมเปิ่น” ซึ่งเขาลงโฆษณารูปตัวละครตกใจเสียง “ยะโฮ่” จากลิ้นชักไปแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้คิดตัวละครหรือเนื้อเรื่องไว้ในหัวเลย

ด้วยความบังเอิญ เขาสะดุดตุ๊กตาดารุมะของลูกสาวแล้วบังเกิดเป็นพล็อตของหุ่นยนต์แมวตัวกลมที่มาคอยช่วยเหลือเด็กชายสมองไม่ดี ขี้หลงขี้ลืม ซึ่งมีต้นแบบจากตัวเขา และอุปกรณ์ชิ้นแรกที่เขาให้มันใช้ก็คือ ไทม์แมชชีน เครื่องมือที่เขารำพึงว่าอยากได้ในคืนก่อนหน้า เพราะจะได้ส่งงานทันนั่นเอง

 

7. โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ ถูกสร้างมาเยอะมากกก

doraemon-fact-dinosuar

โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ไดโนเสาร์ของโนบิตะ (Nobita’s Dinosaur) ซึ่งเข้าฉายในปี 1980 (ก่อนจะถูกรีเมคในปี 2006) และกลายเป็นธรรมเนียมที่ต้องเข้าฉายปีละเรื่องในเดือนมีนาคมทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน มีเพียงปี 2005 เท่านั้นที่ไม่มีภาพยนตร์โดราเอมอนเข้าฉายเนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของฉบับอนิเมะโทรทัศน์

โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ส่วนใหญ่สร้างจากหนังสือการ์ตูน โดราเอมอนฉบับเรื่องยาว (ไดโชเน็น โดราเอมอน) ซึ่งอ.ฟูจิโมโตะ เขียนไว้ทั้งสิ้น 17 เรื่อง ก่อนที่ ฮาซิโกะ ทาดาชิ และโนบุคาซึ ฮางิวาระ จะมารับช่วงเขียนต่อจากโครงร่างที่อ.ฟูจิโกะวางไว้อีก 7 เรื่อง

ภาพยนตร์โดราเอมอนเรื่องแรกที่ไม่ได้สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องยาวนี้คือ ตำนานเทพนิยายไซอิ๋ว (The Record of Nobita’s Parallel Visit to the West) ในปี 1988 ก่อนที่ในยุคปี 2005 จะมีการเอาเนื้อเรื่องจากฉบับรายสัปดาห์และเรื่องที่เขียนขึ้นใหม่มาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายภาค

เพียงปีเดียวที่มีภาพยนตร์โดราเอมอนเข้าฉายถึง 2 เรื่อง คือปี 2014 ซึ่งนอกจาก โนบิตะบุกดินแดนมหัศจรรย์ เปโกะกับห้าสหายนักสำรวจ (New Nobita’s Great Demon ~Peko and the Exploration Party of Five~) แล้วยังมี โดราเอมอน เพื่อนกันตลอดไป (Stand by me Doraemon) เข้าฉายในโอกาสครบรอบ 80 ปีชาตกาลของอ.ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ผู้ให้กำเนิดโดราเอมอนด้วย

 

8. คนดังมากันให้พรึบ

doraemon-perfume-museum

เห็นเป็นการ์ตูนเด็กแบบนี้ แต่โดราเอมอนเคยร่วมงานกับคนดังระดับประเทศญี่ปุ่นและโลกมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะบรรดาศิลปินระดับตัวท็อปของญี่ปุ่นที่มาทำเพลงประกอบให้โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ ทั้ง Sukima Switch, Mihimaru GT, Bump of a Chicken, บอยแบนด์ KIS-MY-FT2 หรือแม้แต่ Perfume เกิร์ลกรุ๊ปอิเล็คโทรป๊อปที่ตอนนี้ดังระดับโลกไปแล้ว

ดาราดังอย่าง โอกุริ ชุน  มิสึกิ นานะ และยามาเดระ โคอิจิ ก็เคยมาร่วมให้เสียงพากย์ตัวละครในภาพยนตร์ โนบิตะผจญภัยในเกาะมหัศจรรย์ (Nobita and the Island of Miracles) และแม้แต่ดาราดังระดับโลกอย่าง จอห์นนี เดปป์ ก็เคยตอบตกลงมาให้เสียงตัวละครโจรสลัดในตอนพิเศษของโดราเอมอนด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “เพราะมันคือโดราเอมอนไงล่ะ”

 

9. ยอดขายตั๋วร้อยล้านใบ!

doraemon-face-museum

ความสำเร็จของภาพยนตร์โดราเอมอนเรื่องที่ 33 โนบิตะล่าโจรปริศนาในพิพิธภัณฑ์ของวิเศษ (Nobita’s Secret Gadget Museum) ซึ่งมีผู้เข้าชมถึงกว่า 1.56 ล้านคนภายใน 2 สัปดาห์นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนมีนาคม ปี 2013 ทำให้ในปีนั้นภาคต่อภาพยนตร์โดราเอมอนทั้ง 33 ภาค มียอดจำหน่ายตั๋วรวมกันครบ 100 ล้านใบ ทำลายสถิติ 99 ล้านใบของก๊อดซิลลาที่อยู่มา 50 ปี มี 28 ภาคได้สำเร็จ

ปัจจุบันภาพยนตร์โดราเอมอนทั้ง 36 ตอน รวมกับ โดราเอมอน เพื่อนกันตลอดไป ทำเงินรวมกันทั่วโลกไปแล้วถึงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นแท่นอนิเมะภาคต่อที่ทำเงินสูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าหากวัดกันที่รายได้เฉลี่ยต่อเรื่องแล้ว จะแพ้โปเกมอนอยู่ครึ่งต่อครึ่ง นอกจากนั้นโดราเอมอนยังเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันภาคต่อทำเงินสูงสุดอันดับที่ 11 ของโลกอีกด้วย (3 อันดับบนสุดคือ เชร็ค, ไอซ์ เอจ และ เดสพิเคเบิล มี)

 

10. ทูตตัวอ้วนกลมในโอลิมปิก

doraemon-fact-ambassador

ในปี 2008 โดราเอมอนได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตอนิเมะคน (ตัว) แรก โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นตัวแทนในการเผยแพร่วัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกมากมายของญี่ปุ่นออกไปสู่สายตาชาวโลก

ครั้งล่าสุดที่โดราเอมอนได้รับบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำหน้าที่ทูตก็คือในปี 2013 ซึ่งโดราเอมอนเป็นตัวแทนประเทศในการเสนอขอจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2020 จนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นได้รับมติจากคณะกรรมการให้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปีดังกล่าวสมความตั้งใจ

 

แม้ว่าปัจจุบันชาวไทยจะพึ่งได้ชมภาพยนตร์ตอน โนบิตะกำเนิดประเทศญี่ปุ่น กันไปแหม็บๆ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นก็ได้ชมภาพยนตร์ลำดับที่ 37 โนบิตะผจญภัยในแอนตาร์กติกแห่งคะจิโคะจิ (Nobita and the Great Adventure in the Antarctic Kachikochi) กันไปแล้ว และอีกไม่นานชาวไทยก็คงได้ดูเช่นเดียวกัน โดราเอมอนคงยังอยู่กับเราไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียวล่ะครับ

 

ที่มา Anitime, List of Doraemon FilmsHighest grossing animated franchiseHighest grossing anime franchise

Writer Profile : moomanowww
Blog : moomanowww Social Media : Facebook, Twitter
View all post
[8/10] รีวิว โดราเอมอน เดอะมูฟวี่ ตอน โนบิตะกำเนิดประเทศญี่ปุ่น (พากย์ไทย)

[8/10] รีวิว โดราเอมอน เดอะมูฟวี่ ตอน โนบิตะกำเนิดประเทศญี่ปุ่น (พากย์ไทย)

[QUIZ] 15 ข้อปราบเซียน !! ทายชื่อการ์ตูนญี่ปุ่นจากคำใบ้ ??

[QUIZ] 15 ข้อปราบเซียน !! ทายชื่อการ์ตูนญี่ปุ่นจากคำใบ้ ??

[QUIZ] ทดสอบสายตา คุณนับ Minions ได้กี่ตัว ?


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save