Mango Zero

เพราะทุกภาพมีเรื่องเล่า… พบกับ 10 ผลงานศิลปะ จากฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ ในรูปแบบงานศิลปะดิจิทัล NFT เป็นครั้งแรก

เพราะทุกภาพมีเรื่องเล่าพบกับ 10 ผลงานศิลปะ จากฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ ในรูปแบบงานศิลปะดิจิทัล NFT เป็นครั้งแรก

เพราะทุกภาพมีเรื่องเล่า… ว่ากันว่าภาพทุกภาพไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หรือภาพวาดก็ตามล้วนมีเรื่องราวและความเป็นมาอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะเป็นผลของการค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ เป็นข้อเท็จจริง หรืออาจจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งจากความทรงจำ

วันนี้เราจะพาทุกคนมาร่วมเดินทางผจญภัยไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ผ่าน 10 ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ในงาน นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX” ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วงการศิลปะไทยเลยก็ว่าได้ ที่นำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์มาจัดแสดงในรูปแบบงานศิลปะดิจิทัล NFT เป็นครั้งแรก! บน Coral Platform ของ KX (KASIKORN X) 

KX = “บริษัทเทคโนโลยีที่นำด้วยหัวใจ”

คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ ผู้บริหาร KX ได้เล่าถึงจุดมุ่งหมายของบริษัทว่าเราจะเป็นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่สร้างความเจริญเติบโตทางด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่นวัตกรรมนั้นยังต้องแก้ปัญหา หรือสร้างโอกาสให้กับคนจำนวนมากมายอีกเช่นกัน

ถึงเวลาแล้ว ทุกคนพร้อมกันหรือยัง ? 

Mango Zero จะชวนมาร่วมเดินทางผจญภัยไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ของกรมสมเด็จพระเทพฯ ผ่าน 10 ผลงานศิลปะจากฝีพระหัตถ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพสีน้ำมัน, สีน้ำ, สีเทียน, สีโปสเตอร์ และภาพพิมพ์หิน โดยแต่ละภาพจะมีเรื่องราว และความเป็นมายังไงกันบ้าง เราไปดูกันเลยยย!

 1. ชื่อภาพ : แจกันสีม่วง

    เทคนิค : สีน้ำมัน

มาเริ่มกันที่ภาพแรกพระองค์ทรงได้แรงบันดาลใจมาจากรัชกาลที่ 9 ทรงวาดภาพสีน้ำมัน ก็ทรงอยากวาดบ้าง และขอพระราชทานสีเหลือ ๆ มาวาดจึงได้ผลงานเป็นภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้นรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องสีและแสงเงาบ้าง เช่น แสงเข้าทางนี้ เงาจะเป็นอย่างนี้

2. ชื่อภาพ : ต้นหางนกยูง

   เทคนิค : สีเทียน

ภาพเก่าที่สุดของพระองค์เห็นจะเป็นภาพต้นหางนกยูง และภาพแจกันสีม่วงเพราะทรงวาดในพ.ศ. 2506 ขณะที่พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้น ทรงดูแบบจากต้นที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา

3. ชื่อภาพ : วนาศรม

   เทคนิค : สีโปสเตอร์

วนาศรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ศาลากลางป่า” ทรงวาดภาพนี้ตามลายปักผ้าที่หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) และอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ร่างถวายตามที่ทรงจินตนาการ ทรงตั้งพระทัยที่จะวาด และระบายสีเพื่อทดลองดูว่าจะใช้ไหมสีอะไรปักจึงจะงาม จุดพิเศษของภาพนี้คือที่หน้าบันศาลาไทยในภาพทรงปิดทองคำเปลวด้วย ภาพนี้จึงเป็นอีกภาพหนึ่งที่ทรงพอพระทัยพร้อมตรัสว่าวาดยาก เพราะมีรายละเอียดต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ

4. ชื่อภาพ : เหวนรก

   เทคนิค : สีน้ำมัน

ภาพนี้เมื่อวาดเสร็จแล้วทรงพอพระทัยไม่น้อย ทรงใช้สีทุกสีที่มีในกล่องตอนแรกทรงวาดองค์ประกอบของสีก่อน ไม่ได้ทรงนึกว่าจะให้เป็นรูปอะไร ทรงป้ายสีไปป้ายสีมา ให้เหลืองอยู่ตรงกลาง แดงอยู่ข้างล่าง น้ำเงินอยู่หลัง เสร็จแล้วดูเหมือนภูเขา เหมือนเป็นเหวเป็นเปลวไฟ จึงทรงจินตนาการเป็นไฟนรก และทรงเติมรูปต้นไม้ รูปคนตัวเล็ก ๆ เข้าไว้ในภาพเพื่อให้เป็นเรื่องราว

5. ชื่อภาพ : ชาวนา

   เทคนิค : สีน้ำมัน

ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์นี้จากบทกวีจีนโบราณสมัยราชวงศ์ถังบทหนึ่ง กล่าวถึงความทุกข์ของชาวนาว่าถึงแม้ข้าวจะขึ้นมาก ชาวนาก็ยังอดอยาก ชาวนาต้องตากแดดร้อนยากลำบาก ใครจะคิดบ้างว่าข้าวแต่ละเม็ดในจาน คือ ความเดือดร้อนแสนสาหัส ทรงวาดโดยใช้สีแดงแทนแดดที่ร้อนแรง ภาพนี้พระองค์ทรงตรัสว่าดูแล้วกลัวภาพของตัวเอง เพราะวาดคนไม่เป็น ชาวนาเลยดูไม่ค่อยเป็นคน

6. ชื่อภาพ : กวีคืนถิ่น

   เทคนิค : สีน้ำมัน

ทรงอ่านบทกวีจีนโบราณสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวว่า “บทกวีคือรูปภาพที่ไม่มีสี รูปภาพคือบทกวีที่ไม่มีเสียง” ทรงลองวาดรูปสีน้ำมันเป็นรูปแรก บทกวีกล่าวถึงการล่องเรือในยามเช้า เมฆเป็นสีต่างๆ เสียงลิงร้องตลอดทาง ผ่านช่องเขาพันช่อง วาดเสร็จให้เพื่อนดู เขาบอกว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อภาพเป็นลิงดูเรือ

7. ชื่อภาพ : ตกปลา-เดียวดาย

   เทคนิค : สีน้ำมัน

ทรงวาดตามบทกวีนิพนธ์จีนของหลิงซงหยวน ชื่อ “เจียงเสวี่ย” (แม่น้ำหิมะ) ทรงโปรดภาพนี้มาก ทั้งๆ ที่พระองค์เองไม่โปรดการตกปลา เพราะไม่โปรดฆ่าสัตว์และไม่โปรดนั่งนิ่งๆ ที่ชอบวาดภาพคนตกปลา รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องรอ ต้องรออะไรสักอย่าง ชอบวาดรูปความนิ่ง ชอบอะไรที่สงบอยู่คนเดียวในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ กว้าง โล่ง ไม่มีคน อยู่เฉยๆ คนเดียว

8. ชื่อภาพ : ช้าง

   เทคนิค : ภาพพิมพ์หิน

เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องในงานฉลองครบรอบ 100 ปี ทรงพระกรุณาเขียนภาพแม่พิมพ์หิน (Lithograph) จำนวน 2 ภาพ บนแม่พิมพ์หินปูนที่คณะจิตรกรรมฯ ทรงใช้หมึกไขเขียนภาพแม่พิมพ์ชิ้นแรกเป็นภาพช้างด้านข้าง ทรงใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แล้วจึงทรงวาดภาพสระบัวอีกภาพหนึ่ง

9. ชื่อภาพ : ทอสีเทียบฝัน

   เทคนิค : สีน้ำ

เสด็จไปประทับแรมที่ภูกระดึงจังหวัดเลย ทรงเดินป่า และชมพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ผาหล่มสักบนภูกระดึง แล้วเสด็จกลับที่ประทับพักแรม เมื่อทรงวาดเสร็จแล้ว พอพระราชหฤทัยยิ่ง และทรงเห็นว่าภาพนี้มีสีสันสดใสเข้ากับชื่อ ทอสีเทียบฝัน ซึ่งเป็นชื่อหนังสือรวมภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ได้พระราชทานภาพนี้ให้เป็นภาพปกหนังสือ ทอสีเทียบฝัน

10. ชื่อภาพ : ข้าหลวงหลังลาย

     เทคนิค : สีเทียน

ภาพนี้ใช้สีเทียนที่ละลายน้ำได้วาดจากรูปถ่ายอีกทีหนึ่ง รูปต้นข้าหลวงหลังลายที่บ้านสวนปทุมแต่ไม่ตรง ดัดแปลงนิดหน่อย แต่งสีเอง ในภาพถ่ายนั้นต้นข้างหลังสีมืดไป แต่งสีให้สว่างขึ้น และโปรดสีเทียนแบบใหม่นี้มากกว่าสีดินสอโปสเตอร์เพราะ “เขียนสนุกกว่า”

จบกันไปแล้วสำหรับการเดินทางกับ 10 ภาพผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ ที่พวกเราเลือกมาจริง ๆ ยังมีอีก 22 ภาพที่พวกเราไม่ได้นำมาให้ทุกคนได้ชมกัน ซึ่งแต่ละภาพนั้นก็มีเรื่องราว และความสวยงามไม่แพ้กัน 

โดยสามารถไปชมผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ทั้ง 32 ภาพกันได้ที่งาน นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX”  ซึ่งจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM ในวันธรรมดาเปิดให้เข้าชม เวลา 11.00-20.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น. 

จากนั้นจะนำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ขึ้นบนเว็บไซต์ coralworld.co เพื่อจัดแสดง และขอรับการสนับสนุนเงินบริจาคต่อไป และจะเริ่มเปิดจองบน Coral Platform ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยเงินรายได้จากการร่วมบริจาคผ่าน Coral Platform จะสมทบทุนให้กับโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย”  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0 2256 4440, 0 2255 9911