Mango Zero

ป้ายยา 10 แอนิเมชันที่ไม่ได้มีไว้ให้แค่เด็กดู!

โตป่านนี้แล้วยังดูการ์ตูนอีกหรอ ? ใครเคยโดนถามแบบนี้บ้าง

หนึ่งในคำถามที่เชื่อว่าคอการ์ตูนบ้านเราน่าจะเคยโดนถามมาบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามาถามเลยสักนิด! เพราะการอ่านหรือดูการ์ตูนอะไรก็ตามไม่ได้มีการจำกัดอายุไว้ซะหน่อย ว่าต้องให้แค่เด็กดูเท่านั้น

อีกทั้งในโลกของอนิเมะได้มีแค่เพียงเรื่องราวน่ารัก ฮา ๆ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะอย่างเดียว แต่ยังให้ข้อคิด และเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ที่เอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้

รวมถึงการดูอนิเมะในมุมมองที่เราโตขึ้น ยังทำให้เราได้รับสารที่สื่อออกมาต่างไปจากเดิม และเริ่มเก็บรายละเอียดเล็กน้อยจากงานภาพ เสียง ที่มากกว่าเพื่อความบันเทิงอีกนะ

Mango Zero ไม่รอช้า! มาป้ายยา 10 อนิเมะที่ดูแล้วจะรู้เลยว่าอนิเมะ มัน! ไม่! ได้! มี! ไว้! ให้! แค่! เด็ก! ดู! นะโว้ยยยยยยย 

The Mitchells vs. the Machines (2021)

“ความสัมพันธ์ของคำว่าครอบครัว”

สำหรับบางคน บ้านอาจเป็นเซฟโซนที่พักใจเมื่อเจอเรื่องร้ายๆ แต่บ้านในโลกของแอนิเมชันเรื่องนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกครอบครัว เพราะเป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกทั้งหมด 4 คนกับอีก 1 ตัว โดยกำลังเดินทางเพื่อจะไปส่ง เคที่ ลูกสาวคนโตของบ้าน 

แต่ไม่ทันไรโลกก็ถูกควบคุมด้วยหุ่นยนต์ที่เกิดจากความล้ำสมัยของเทคโนโลยี ครอบครัวนี้เลยต้องกลายเป็นที่พึ่งในการช่วยกอบกู้โลก 

ซึ่งภาพรวมของแอนิเมชันเรื่องนี้จริง ๆ แล้วมีหลายสิ่งมากมายที่ชวนให้เราประทับใจ แต่..มีจุดหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ งานอาร์ตที่อุดมด้วยการผสมภาพมีม และดูเดิลในอินเทอร์เน็ตมากมาย ทับซ้อนกันแบบขัดแย้งสุด ๆ แต่กลายเป็นว่ายิ่งดูยิ่งจับใจคนดูได้อยู่หมัด

Klaus (2019)

“เเอนิเมชันฤดูหนาวที่ดูแล้วหัวใจอบอุ่น”

เมื่อเห็นว่าเป็นอนิเมะเกี่ยวกับซานตาคลอส หลายคนคงคิดไปแล้วว่าเรื่องนี้มันไม่เหมาะกับผู้ใหญ่หรอก แต่ว่า… Klaus นั้นมีอะไรมากกว่าที่คิด เพราะเป็นหนึ่งในแอนิเมชันจาก Netflix เรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 

มหัศจรรย์ตำนานคริสต์มาสจากสเปน บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครชื่อว่า “เจสเปอร์” ลูกชายของมหาเศรษฐีธุรกิจไปรษณีย์ ที่สุขสบายจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เขาจึงถูกส่งตัวไปเป็นบุรุษไปรษณีย์ในหมู่บ้านเล็กๆ เพื่อปรับนิสัย และได้ผูกมิตร Klaus ช่างไม้สุดสันโดษ ที่จะมาช่วยมอบความสุขให้กับชาวเมืองที่โดดเดี่ยว 

เรื่องนี้มีการเล่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั่นก็คือ การถ่ายทอดอารมณ์ด้วยการใช้แสง เงา และพื้นผิวมาทำให้ตัวละครปรากฏเป็น 3 มิติ แม้จะเป็นภาพยนตร์ 2 มิติก็ตาม โดยเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ได้รับกระแสที่ดีจากผู้ชมเป็นอย่างมาก

Sausage Party (2016)

“แอนิเมชันที่เด็กไม่ควรดู แต่ผู้ใหญ่ไม่ควรพลาด”

เมื่อถ่ายทอดเรื่องราว ศาสนา การเมือง เพศ และชาติพันธุ์ผ่านวัตถุดิบในซูเปอร์มาร์เก็ต

Sausage Party เป็นเรื่องราวที่เกิดในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง สินค้าต่าง ๆ ในนั้นมีชีวิต และนับวันรอที่นักช้อป (ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “พระเจ้า” ) มาหยิบเขาใส่ตะกร้า และพาเขาไปข้างนอก (ที่พวกเขาเชื่อว่ามันคือ “สวรรค์”) โดยความเชื่อนี้เกิดจากบรรพบุรุษอินเดียนที่ปรุงแต่งเรื่องขึ้นมา เพื่อให้สินค้าพวกนั้นไม่ตื่นตระหนกกับการที่จะถูกมนุษย์นำไปทำเป็นอาหาร

ซึ่งในระหว่างที่พวกมันเอาตัวรอด ก็จะมีการเล่าเรื่องที่สอดแทรกประเด็นเสียดสีสังคม ปรัชญา มุข สำเนียง ค่านิยมต่าง ๆ มากมาย ที่เรียกได้ว่าเจ็บแสบสุด ๆ 

แต่ๆๆๆๆ คำเตือนก่อนดูเรื่องนี้! นี่คือการ์ตูนแอนิเมชัน 18+ สำหรับผู้ใหญ่ขนานแท้ และไม่เหมาะกับเด็กด้วยประการทั้งปวง! เพราะการนำเสนอและเนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเซ็กส์อย่างโจ๋งครึ่ม เรียกได้ว่าดูไปเอามืออุดปากไปแน่นอนน

Fantastic Mr. Fox (2009)

“เราลืมความเป็นมนุษย์จนสัตว์ต้องสอนบทเรียนให้เรารึเปล่า”

หนึ่งในแอนิเมชันที่ดัดแปลงมาจากผลงานเขียนของ โรอัลด์ ดาห์ล โดยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สต็อปโมชั่นด้วย ฝีมือการกำกับของ เวส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับสุดแนวคนหนึ่งของวงการ Hollywood 

โดยเป็นเรื่องราวของคุณจิ้งจอกผู้เคยใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมายกับการวิ่งราวไก่ของชาวนาในยามดึกที่ต้องละทิ้งความแสบเพื่อมารับบทความเป็นพ่อ แต่..ด้วยความซ่าของเขา ทำให้อดไม่ได้ที่จะขโมยอีกครั้งก่อนวางมือ แถมยังเลือกที่จะบุกไร่ของชาวนาซึ่งขึ้นชื่อว่าโหดที่สุด

จึงเป็นอนิเมะที่เล่าถึงความเหลื่อมล้ำ การรับผิดชอบต่อครอบครัว มิตรภาพ ที่ให้บทเรียนกับเรามากมาย แลเทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ สามารถเติบโตได้มากพอ ๆ กับที่ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นเด็กได้

Flee (2021)

“บ้านคือที่ปลอดภัย และไม่ต้องหนีไปไหนอีกแล้ว

ใครที่เป็นคอหนังนอกกระแสอาจจะรู้จักเรื่องนี้ ซึ่งการหยิบยกเรื่องจริงมาเล่าในรูปแบบ “แอนิเมชัน” ที่ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงความขมขื่นของการเป็นผู้ลี้ภัย ผสมผสานด้วยสไตล์ที่แปลกใหม่ในการเล่าเรื่อง

Flee บอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของ “อามิน” เด็กหนุ่มที่ต้องหนีออกจากบ้านเกิดของตัวเอง เพราะมีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น เขาจึงกลายเป็นผู้ลี้ภัยในรัสเซีย-ยุโรป ทำให้ตลอดชีวิตอามินตามหาสถานที่ที่จะมอบความปลอดภัย ไม่ต้องหนีไปไหน และเพียงพอที่จะทำให้เขาเรียกว่า ‘บ้าน’

Grave of the Fireflies (1988)

“เมื่อต้องเอาชีวิตรอดในสงคราม”

แอนิเมชันเรียกน้ำตาทุกคนทั่วโลกในปี 1988 อย่าง Grave of the Fireflies หรือ สุสานหิ่งห้อยที่เราคุ้นเคยกัน เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติของ อะคิยูกิ โนซากะ ผู้สูญเสียน้องสาวตัวน้อย ด้วยสาเหตุจากการขาดอาหารระหว่างสงคราม 

ตัวแอนิเมชันเล่าถึงการเปรียบเทียบถึงชีวิตของเด็กที่ประสบภัยสงคราม ก็เหมือนกับหิ่งห้อยที่รอวันดับแสงลง รวมถึงจะมาเปิดมุมมองให้เห็นถึงความหดหู่ของสงคราม การทำลายล้าง และความสูญเสีย ว่าการเกิดสงครามในแต่ละทีได้พรากอะไรจากเราไปบ้าง 

ด้วยวาทศิลป์และการเล่าเรื่องที่น่าสลดใจ ในปีนั้น (1988) ได้มีการฉายอนิเมะเรื่องนี้พร้อมกับ โทโทโร่เพื่อนรัก (My Neighbor Totoro) จากค่ายเดียวกัน ที่เป็นเหมือนตัวเลือกให้กับผู้ชมว่าถ้าไม่พร้อมดูเรื่องนี้ก็ตีตั๋วไปดูอีกเรื่องแทนได้นะ เพราะเนื้อเรื่องของสุสานอาจจะบีบคั้นเกินไปที่เด็กๆ หรือผู้ใหญ่จะทนดูไหวในตอนนั้น

Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018)

“เรียนรู้ในช่วงวัยรุ่น เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ”

เชื่อว่าใครที่เป็นคอมาร์เวลคงได้อยู่ในยุคของ Spider-Man หลากหลายเวอร์ชัน ตั้งแต่ Tobey Maguire , Andreq Garfield และ Tom Holland ซึ่งเรื่องราวของทั้งสามเวอร์ชันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก รวมถึงตัวหลักของเรื่องที่ยังคงเป็นเด็กหนุ่มผิวขาวหน้าตาดีกันทั้ง 3 เวอร์ชัน

แต่ในโลกแอนิเมชันนั้นจะกว้างขวางมากขึ้น โดยหยิบเอาเรื่องจักรวาลมิติเวลาคู่ขนานมาเล่าว่า ที่มิติอื่นๆ ก็ยังมีสไปเดอร์แมนในรูปแบบต่างๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ เพศหญิงหรือชาย หรืออาจจะเป็นสัตว์ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเป็น Spider-Man ในแบบฉบับของตัวเราเองให้ได้

จากแนวคิดดี ๆ ส่งผลให้ เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สไปเดอร์แมนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมถึงเป็นการพิสูจน์ว่าต่อให้เราจะเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ แต่ถ้ามีประเด็นที่น่าสนใจบวกกับการนำเสนอที่โดดเด่น ก็สามารถได้รับการยอมรับจากเหล่าผู้วิจารณ์ และครองใจผู้ชมได้เช่นกัน

Akira (1988)

“ตำนานเเอนิเมชันไซเบอร์พังค์”

แอนิเมชันที่ใครหลายคนให้คำจำกัดว่า “เหนือกาลเวลา” ด้วยงานคุณภาพระดับสูงที่ผ่านมากว่า 34 ปี ที่เมื่อดูกี่ครั้งก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกตกยุคหรือล้าสมัยแต่อย่างใด 

ในปี 1988 เรื่องราวของ “AKIRA” ได้ถือกำเนิดขึ้น ใน นีโอโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การประท้วง และปัญหามากมาย แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องของสังคมที่เสื่อมโทรม แต่สวนทางกับวิทยาการที่ล้ำสมัย

ซึ่งวิธีการผลิตแอนิเมชันเรื่องนี้ผ่านงานวาดมือทั้งหมด ด้วยเทคนิค “เซลแอนิเมชัน”  24 เฟรมในหนึ่งวินาที และจากความยาวภาพยนตร์ 2 ชั่วโมง จึงทำให้เรื่องนี้มีมากกว่า 172,000 เฟรมเลยทีเดียว

Waking Life (2001)

“ความฝันคือชะตากรรม”

ภาพยนตร์แอนิเมชันที่มีการใช้พัฒนาและเทคโนโลยีการสร้างจาก Rotoscoping คือเป็นกระบวนการสร้างภาพเคลื่อนไหวบนฟุตเทจวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้าทีละเฟรม

Waking Life เล่าถึงชายนิรนามคนหนึ่ง หลังตระหนักว่าตัวเองจมปลักอยู่ในความฝัน จีงพยายามหาหนทางตื่นเพื่อกลับสู่โลกความเป็นจริง แต่ไม่ว่าจะทำเท่าไหร่ก็ยังไม่หลุดพ้นสักที เจอแต่ฝันซ้อนฝันซ้อนฝัน ไม่มีวันจบสิ้น! สุดท้ายก็ได้แต่ปล่อยตัวปล่อยใจ ให้ล่องลอยไปในวัฎฎะสังสาร … ชั่วนิรันดร์

Shrek (2001)

“อย่าติดสินคนอื่นเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก”

เรื่องราวของ เชร็ค ยักษ์สีเขียวตัวใหญ่ที่อาศัยอยู่บ่อน้ำในป่า ด้วยความที่เจ้าตัวคิดว่าตัวเองเป็นที่รังเกียจและเกรงกลัวของผู้คน วันหนึ่งมีเหตุที่ทำให้เขาและเพื่อนซี้อย่างดองกี่ ต้องเดินทางไปยังเมืองของเจ้าชาย เพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเจ้าหญิงฟีโอน่า จากการถูกขังอยู่บนประสาทหอคอยที่มีมังกรตัวใหญ่นอนเฝ้าอยู่ 

ด้วยงานอาร์ตและการเล่าเรื่องต่าง ๆ Shrek จึงเป็นแอนิเมชันที่เหมาะสำหรับคนที่มองหาความแปลกใหม่  เพราะเรื่องนี้จะหยิบเอาตัวละครมาปรับใหม่ในมุมแปลกตามากขึ้น รวมถึงการเอามุขจากหนังดังมาปรับใช้ที่เรียกเสียงฮาพอไหล่สั่นได้อยู่เหมือนกัน แถมยังมีข้อคิดและบทพูดคม ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย

ที่มา : Collider